คนไข้หลายๆ คน ที่ทำเด็กหลอดแก้ว และตรวจโครโมโซมตัวอ่อน อาจจะได้รับผลตรวจโครโมโซม เป็นผลก้ำกึ่ง หรือ Mosaic และอาจจะไม่เข้าใจว่าคืออะไร แล้วเราควรจะใส่ตัวอ่อนตัวนั้นหรือไม่ ถ้าใส่แล้วลูกจะมีความผิดปกติอะไรบ้าง รวมถึงหลังจากที่ใส่แล้วเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร และจะต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมในระหว่างการตั้งครรภ์หรือไม่ วันนี้คุณหมอนิศารัตน์จะมีคำตอบให้ในไลฟ์นี้
ในสมัยก่อนเราอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องผลตรวจโครโมโซมก้ำกึ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น จากการทำเด็กหลอดแก้วทั่วๆ ไป ก็พัฒนาเป็นการแช่แข็งตัวอ่อนและมีการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน
การตรวจโครโมโซมในสมัยก่อนใช้เทคนิคที่เรียกว่า Fish ที่สามารถตรวจโครโมโซมได้แค่ 5 คู่ ก็ได้พัฒนาให้สามารถตรวจเพิ่มเป็น 9 คู่ 12 คู่ และพัฒนาไปเป็นเทคนิค CGH จนถึงเทคนิคในปัจจุบันที่ใช้กันทั่วไป ก็คือเทคนิค NGS หรือ Next Generation Sequencing ที่มีความละเอียดสูง ทำให้สามารถแปลออกผลมาได้ละเอียดมาก จนมีความก้ำกึ่งเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า Mosaic Embryo
สาเหตุของ Mosaic เกิดได้จากอะไรบ้าง?
หลังจากที่ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ที่ยิงอสุจิเข้าไปในไข่ จะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นตัวอ่อนที่ Day 1 หรือเรียกว่า 2PN หลังจากนั้นตัวอ่อนจะแบ่งจาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่ 5 ตัวอ่อนจะแบ่งเซลล์มากขึ้น ไปจนถึงระยะ Blastocyst ซึ่งจะมีเซลล์อยู่ทั้งหมดประมาณ 50-100 เซลล์ โดยเซลล์จะแบ่งกันทำหน้าที่เป็น 2 ส่วน คือ เซลล์กลุ่มที่เกาะกลุ่มกันอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เรียกว่า Inner Cell Mass ซึ่งในอนาคตจะกลายไปเป็นตัวเด็ก ส่วนเซลล์รอบๆ เรียกว่า Trophectoderm ในอนาคตจะกลายไปเป็นเนื้อรก และตรงกลางก็จะกลายไปเป็นน้ำ
โดย Mosaic เกิดขึ้นจากความผิดปกติในขณะที่เซลล์กำลังแบ่งตัว เช่น จาก 1 ไปเป็น 2 เซลล์ แล้วมีโครโมโซมผิดปกติเกิดขึ้น เซลล์ที่ผิดปกตินี้เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับเซลล์ที่ปกติ ทำให้ตัวอ่อนที่มาจาก 1 เซลล์ ที่ปกติควรจะมีโครโมโซมแบบเดียวกันทั้งหมด กลายเป็นมีโครโมโซม 2 แบบ ทำให้ตรวจออกมามีผลเป็น Mosaic Embryo ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 5-15% ในทุกกลุ่มอายุ
โดยปกติแล้วในทุกๆ เซลล์ของตัวอ่อนควรจะมีโครโมโซมแบบเดียวกันทั้งหมด เช่น สีน้ำเงินคือปกติ ก็จะต้องปกติทุกเซลล์ สีแดงคือผิดปกติ ก็จะผิดปกติทุกเซลล์ แต่ในกรณีที่เป็น Mosaic จะมีทั้งเซลล์ที่ปกติและผิดปกติปะปนกัน
ในขั้นตอนในการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน จะดูดเซลล์ของตัวอ่อนในส่วนที่จะกลายไปเป็นเนื้อรกประมาณ 5-10 เซลล์ จากตัวอ่อนในระยะที่มี 50-100 เซลล์ หากดูดได้เซลล์สีฟ้าทั้งหมด ผลโครโมโซมของตัวอ่อนจะออกมาว่าปกติทั้งหมด หากดูดได้เซลล์สีแดงคือผิดปกติ แต่ถ้าเป็นตัวอ่อน Mosaic ก็คือจะได้ทั้งสีฟ้าและสีแดง ทำให้ผลโครโมโซมออกมาเป็นก้ำกึ่ง
Mosaic เกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง?
1. ความผิดปกติของตัวอ่อน ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติจริง
2. เทคนิคของแล็บที่ทำ IVF ในช่วงการทำ Biopsy หรือการดูดเซลล์จากตัวอ่อน หากนักวิทยาศาสตร์ทำไม่ถูกต้อง เช่น ตัดเซลล์ไม่ถึงขอบเซลล์ แต่ตัดแค่ตรงกลางของเซลล์ใดเซลล์หนึ่ง ก็อาจจะทำให้ได้ผลโครโมโซมที่ก้ำกึ่ง หรืออาจเกิดจากวิธีการขนส่งและการเตรียมไม่ถูกต้อง ก็อาจจะมีโอกาสทำให้เกิด Mosaic มากขึ้นได้
การย้ายตัวอ่อนที่เป็น Mosaic จะมีผลกระทบอะไรบ้าง?
1. อัตราการตั้งครรภ์น้อยลง เพราะโอกาสที่ตัวอ่อนจะสามารถฝังตัวเข้าไปในโพรงมดลูกจะต่ำกว่าตัวอ่อนที่ปกติ
2. อัตราการแท้งเพิ่มขึ้น
การแปลผล NGS แบบไหนถึงเรียกว่าเป็น Mosaic?
โดยทั่วไปหากการแปลผลออกมาชัดเจน เช่น ผลปกติแน่นอน จะเห็นเส้นอยู่ในระดับปกติทั้งหมด หรือผลผิดปกติชัดเจน เช่น โครโมโซมที่ 7 ขาดหายไป ซึ่งจะเห็นว่าเส้นมันขาดหายไป
แต่หากผลเป็น Mosaic เส้นจะขาดหายไปแค่กึ่งกลาง ทำให้การแปลผลออกมาว่าโครโมโซมนั้นขาดหายไปกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์จะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะย้ายตัวอ่อนหรือไม่
เปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์จากตัวอ่อนที่ปกติ จะอยู่ที่ประมาณ 50-70% ของการตั้งครรภ์ ต่อการย้ายตัวอ่อน 1 ครั้ง ในกรณีที่มี Mosaic หลายโครโมโซม เปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์จะลดลงเหลือแค่ 12%
แต่ถ้ามี Mosaic ของโครโมโซมแค่บางตัว เปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 12-60% เรียกได้ว่าโอกาสการตั้งครรภ์จะลดลง เมื่อเทียบกับตัวอ่อนปกติ
Mosaic แบบไหนที่สามารถย้ายได้?
ในกรณีที่มีตัวอ่อนปกติ แน่นอนว่าต้องเลือกตัวอ่อนที่ปกติใส่ก่อน แต่ถ้าในกรณีที่ไม่มีตัวอ่อนที่ปกติเลย ถึงจะพิจารณาการย้ายตัวอ่อน Mosaic หรือหากคนไข้กังวลการใส่ตัวอ่อน Mosaic อาจจะต้องพิจารณาการกระตุ้นไข่ใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะได้ตัวอ่อนที่ปกติ
ส่วนกรณีที่มีจำนวนไข่น้อยและกระตุ้นไข่ทำมาแล้วหลายรอบ แต่ไม่ได้ตัวอ่อนที่ปกติเลย การใส่ตัวอ่อน Mosaic จะพิจารณาจาก
1. เปอร์เซ็นต์ของ Mosaic ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของ Mosaic สูงตัวอ่อนมีโอกาสที่จะผิดปกติมาก การเลือกใส่ตัวอ่อนที่มีเปอร์เซ็นต์ของ Mosaic น้อยที่สุดก็จะปลอดภัยที่สุด
จากข้อมูลงานวิจัยอ้างอิงของ PGDIS 2021 พบว่าในกรณีที่คนไข้ที่ไม่ได้เอาตัวอ่อนไปใส่ และบริจาคให้กับศูนย์ โดยศูนย์ได้นำเอาตัวอ่อนไปตรวจโครโมโซมซ้ำอีกครั้ง พบว่าตัวอ่อนที่ Mosaic เปอร์เซ็นต์ต่ำบางครั้งก็อาจพบผลเป็นปกติ หรืออาจยังเป็น Mosaic ที่เปอร์เซ็นต์ต่ำๆ อยู่ แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์ของ Mosaic สูงก็มีโอกาสมากที่ตัวอ่อนนั้นจะผิดปกติจริงๆ
2. การเลือกแท่งของโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งวิธีนี้อาจจะมีความซับซ้อนมาก เพราะต้องเช็กให้แน่ใจว่าโครโมโซมแท่งไหนที่อันตรายไม่ควรใส่ และดูว่าจำนวนของโครโมโซมที่เป็น Mosaic กี่แท่ง เช่น ถ้าผิดปกติ 3 แท่งก็มีความเสี่ยงสูงมากกว่าผิดปกติแค่ 1 แท่ง สำหรับในกรณีที่เปอร์เซ็นต์ของ Mosaic เท่ากัน เช่น 30% เท่ากันทั้ง 2 ตัว และเป็นโครโมโซมแท่งที่ใส่ได้ ไม่อันตราย ควรจะเลือกจากรูปร่างของตัวอ่อนที่สวยกว่าเป็นหลัก
เปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์ ในกรณีที่ย้ายตัวอ่อน Mosaic อยู่ที่เท่าไหร่?
อยู่ที่ 15-47% โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของ Mosaic, เปอร์เซ็นต์ของ Mosaic, และจำนวนแท่งโครโมโซมที่ผิดปกติ โดยมีเปอร์เซ็นต์แท้ง 7-31%
ในคนไข้ที่ท้องและสามารถประคับประคองได้จนถึงคลอด แล้วพบว่าเด็กไม่ผิดปกติหรือพิการเลย อาจเป็นเพราะว่าร่างกายมีการปรับตัวและมีกลไกทางธรรมชาติให้ตัวเองอยู่รอดได้ ในตัวอ่อน Mosaic ที่มีเซลล์ปกติ ถ้าท้องได้ เซลล์ปกตินั้นจะแบ่งตัวไปทดแทนเซลล์ที่ผิดปกติ นอกจากนี้ร่างกายยังมีกลไกบางอย่างที่ผลักเซลล์ที่ผิดปกติให้ไปอยู่ที่เนื้อรก ให้เหลือแค่เซลล์ปกติที่จะกลายไปเป็นตัวเด็ก ซึ่งถือเป็นกลไกของร่างกายที่พยายามช่วยเหลือตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ใส่ตัวอ่อน Mosaic แล้วตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องตรวจคอนเฟิร์มว่าตัวอ่อนตัวนั้นเป็น Mosaic จริงๆ หรือร่างกายสามารถชดเชยและกลายเป็นตัวอ่อนที่ปกติได้ โดยการตรวจ NIPT หรือ Fetal Cell-Free DNA ที่หลายคนอาจจะรู้จักในนาม Panorama หรือ Nifty โดยบางครั้งการตรวจ NIPT จะครอบคลุมแค่ 5 โครโมโซมหลักๆ คือ 13, 18, 21, X, Y ซึ่งต้องเลือก NIPT ชนิดที่ครอบคลุมโครโมโซมที่เป็น Mosaic ด้วย แต่หากยังไม่มั่นใจควรไปเจาะน้ำคร่ำ เพื่อให้ได้ผลตรวจที่คอนเฟิร์มและแม่นยำกว่า
ส่วนกรณีที่มีความซับซ้อน และมีแค่บางส่วนของโครโมโซมที่ผิดปกติ อาจจะต้องเจาะน้ำคร่ำ และนำไปตรวจโครโมโซมที่ละเอียดมากกว่าการเจาะน้ำคร่ำทั่วไป
จากประสบการณ์ของ Superior A.R.T. ที่ใส่ตัวอ่อนที่เป็น Mosaic ทั้งหมด 14 เคส คนไข้ตั้งครรภ์ 7 เคส และคอนเฟิร์มว่าเป็นตัวอ่อนปกติจนถึงคลอดลูกออกมาปกติ 5 จาก 7 เคส อีก 2 เคสยังอยู่ในระหว่างรอผลเจาะน้ำคร่ำ
สรุปสั้นๆ ก็คือ Mosaic สามารถใส่ได้ถ้าไม่มีตัวอ่อนปกติ แต่จะต้องคอยติดตามและดูแลเรื่อยๆ ว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่