การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้จากการที่มีตัวอ่อน (embryo) มากกว่าหนึ่งตัวอ่อน ฝังตัวและเจริญเติบโตในโพรง มดลูก (แฝดชนิดนี้ เรียกว่าแฝดเทียม หรือ Dizygotic twins)แต่หากตัวอ่อนหนึ่งตัวแตกตัวออกและเจริญเติบเติบโตเป็นทารกสองคน (แฝดแท้ หรือ Monozygotic twins) กระบวนการดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตามธรรมชาติและด้วยกระบวนการเทคโนโลยีการช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted-reproductive Technologies) เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำ IVF และการทำ ICSI
วันนี้ Superior A.R.T. จะพาทุกท่านมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันว่าการตั้งครรภ์ลูกแฝดเกิดขึ้นจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF ได้อย่างไร? และมีสิ่งใดบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ลูกแฝด มาเริ่มกันเลย
การตั้งครรภ์ลูกแฝดเกิดขึ้นในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF | ICSI ได้อย่างไร?
การตั้งครรภ์ลูกแฝดอาจเกิดขึ้นได้จากการทำเด็กหลอดแก้ว หรือจากการย้ายตัวอ่อน (embryo) หลายตัวกลับเข้าสู่มดลูกของฝ่ายหญิง และเกิดการฝังตัวของตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดตามมานั่นเอง
มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ผู้เข้ารับการรักษาจะตั้งครรภ์ลูกแฝดในกระบวนการ IVF?
โอกาสการตั้งครรภ์ลูกแฝดจากกระบวนการการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำ IVF และการทำ ICSI ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ จำนวนตัวอ่อนที่ย้าย, อายุฝ่ายหญิง, และสาเหตุภาวะมีบุตรยากของผู้เข้ารับการรักษา ยิ่งมีการย้ายตัวอ่อนมากเท่าใด โอกาสในการตั้งครรภ์แฝดก็ยิ่งสูง และจะยิ่งสูงขึ้นอีกในผู้หญิงที่มีอายุน้อย จากการวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราการตั้งครรภ์ลูกแฝดมีโอกาสสูงถึง 45.7%ในผู้หญิงอายุ 20-29 ปี และลดลงต่ำกว่า 25% ในผู้หญิงอายุ 40-44 ปี ถึงแม้จะมีการย้ายตัวอ่อนถึง 5 ตัวก็ตาม การรับคำปรึกษาโดยตรงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน IVF จะช่วยให้คุณทราบและเข้าใจโอกาสของการตั้งครรภ์แฝดจากการทำ IVF ของคุณได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ควรทำอย่างไรหากต้องการมีลูกแฝดด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF?
สำหรับคู่ที่กำลังพิจารณาการตั้งครรภ์ ลูกแฝดโดยการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF และ ICSI ลำดับแรกขอแนะนำให้คุณศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์แฝดอย่างละเอียดถี่ถ้วน และปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง การตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้น มีข้อกังวลหลายประการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่:
- การตั้งครรภ์แฝดมักมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทารกเสียชีวิต ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวเหนื่อยทั้งทางกาย, ทางอารมณ์และทางการเงิน หรือกล่าวโดยสรุปคือ การตั้งครรภ์ลูกแฝด มีโอกาสที่จะเกิดปัญหามากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว
- ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางอารมณ์และร่างกาย โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่จะต้องผ่านทุกขั้นตอนตั้งแต่การกระตุ้นไข่จนถึงขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน อีกทั้งการทำ IVF เพียงหนึ่งรอบอาจไม่ได้เป็นการรับประกันผลสำเร็จ และอาจจำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้ง ดังนั้น คุณควรพิจารณาให้รอบคอบ หากต้องการทำ IVF เพียงเพื่อพยายามตั้งครรภ์ลูกแฝด
ควรทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์แฝดในการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ?
คุณสามารถเลือกย้ายตัวอ่อนเพียงแค่ตัวเดียวในแต่ละรอบของการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เพื่อลดโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด
ในอดีต แพทย์มักต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยพยายามย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูกให้มากที่สุด แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนขั้นสูงและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสต์ซึ่งมีโอกาสฝังตัวสูงกว่าตัวอ่อนระยะ ฯลฯ การย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียวก็มีอัตราผลสำเร็จที่ค่อนข้างสูง และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งหมด (หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงบลาสโตซิสต์ของเรา คลิกที่นี่)
นอกจากนี้ หากคุณเลือกที่จะย้ายตัวอ่อนทีละหนึ่งตัวคุณสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนที่เหลือไว้ใช้ในภายหลัง โดยการแช่แข็งตัวอ่อน ด้วยเทคนิค Vitrification ตัวอ่อนของคุณจะถูกแช่แข็งโดยการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วจนโมเลกุลของน้ำไม่สามารถสร้างผลึกน้ำแข็งในเซลล์ตัวอ่อน ตัวอ่อนของคุณจะถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง หากเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูงและได้รับการดูแลอย่างดีควบคู่กับการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบปริมาณไนโตรเจนเหลวและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ หากต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มกระบวนการ IVF ตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่สามารถนำตัวอ่อนแช่แข็งมาละลายใช้ ในขั้นตอนที่เรียกว่า Frozen Thaw Embryo Transfer (FET) ได้เลย
ที่ ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. เรามีนโยบาย “การย้ายบลาสโตซิสต์ตัวเดียว” นั่นคือ เราแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนบลาสโตซิสต์เพียงตัวเดียว หรือย้ายตัวอ่อนได้ไม่เกิน 2 ตัวเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
คำถามสุดท้าย หากเลือกย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียว ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์แฝดอยู่หรือไม่?
แม้ว่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้และไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนจากการทำ IVF แต่อย่างใด แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการตั้งครรภ์แฝดที่เรียกว่า แฝดแท้ หรือ Monozygotic twins
การตั้งครรภ์แฝดแท้ ไม่ได้เกิดจากไข่สองใบ ตัวอ่อนสองตัว แต่เกิดจากไข่เพียงใบเดียว (หรือจากการย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียว) ที่เกิดการแบ่งหรือแยกตัวออกเป็นสองตัวอ่อนในระหว่างกระบวนการแบ่งเซลล์ และเจริญเติบโตกลายเป็นทารกในครรภ์ 2 คน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ฝาแฝดแท้ ที่มียีนเหมือนกันทั้งหมด มีเพศเดียวกัน และมักจะมีลักษณะภายนอกเหมือนกันทุกประการ