ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟 40 : ERA Test จำเป็นแค่ไหน ช่วยให้ท้องได้จริงเหรอ?


ERA Test คือ การทดสอบพิเศษ ที่นำมาใช้เพื่อดูว่า วันที่เราเลือกที่จะใส่ตัวอ่อนนั้นเป็นวันที่เหมาะสมที่สุดหรือยัง เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว


ก่อนที่จะพูดถึง ERA Test คุณหมอจะอธิบายเกี่ยวกับมดลูก และวันที่เหมาะสมในการใส่ตัวอ่อนให้ฟังคร่าวๆ ก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าทำไมเราถึงจะอยากลองตรวจ ERA Test หรือในกรณีที่ไม่ใช้ ERA Test เรามีวิธีอื่นที่อาจจะทดแทนได้หรือไม่

เริ่มจากวงจรของการตกไข่ โดยในแต่ละรอบเดือนจะเริ่มต้นทุกอย่างใหม่เมื่อประจำเดือนมา  เยื่อบุโพรงมดลูกมีการหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งในรอบเดือนตามธรรมชาติ การที่ประจำเดือนมา จะสัมพันธ์กับขนาดของไข่ฟองเล็กๆ ที่อยู่ในรังไข่ หลังจากนั้นไข่จะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ และจะสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ Estradiol ซึ่งทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อไข่โตเต็มที่จนไข่ตก เปลือกไข่ก็จะสร้างฮอร์โมนตัวที่ 2 ชื่อว่า Progesterone ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโพรงมดลูกให้พร้อมรับการตั้งครรภ์ โดยจะเริ่มมีเส้นเลือดมากขึ้น และมีต่อมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ตัวอ่อนก็จะฝังตัวเข้าไปในโพรงมดลูก แต่ถ้าไม่เกิดการตั้งครรภ์ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังไข่ตก ฮอร์โมน Progesterone ก็จะลดลง ทำให้มีประจำเดือนมา

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในรอบเดือนธรรมชาติ จะมีฮอร์โมน Estrogen ที่กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเต็มที่ ก็จะเกิดการตกไข่ ทำให้มีฮอร์โมนตัวที่ 2 คือ Progesterone มาทำหน้าที่ต่อไป

สำหรับการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกในคนไข้ที่ทำเด็กหลอดแก้วที่กำลังรอจะใส่ตัวอ่อน ก็จะเลียนแบบฮอร์โมนในรอบเดือนธรรมชาติ ที่อธิบายไปข้างต้น ซึ่งก็จะมีการวางแผนดังนี้คือ เมื่อประจำเดือนมา ให้เริ่มทานยาฮอร์โมน Progynova หรือ Estrofem มีทำหน้าที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว หลังจากนั้นจะมีการนัดมาอัลตราซาวด์เป็นช่วงๆ พอถึง Day 14 ซึ่งคาดว่าเป็นวันที่เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ก็จะเริ่มยาฮอร์โมน Progesterone  Day 15 และอาจจะใส่ตัวอ่อนประมาณวันที่ 20 ของรอบเดือน หรือหลังจากที่ใช้ยาฮอร์โมน Progesterone วันที่ 6

การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อกินยา Estrofem หรือ Progynova ทำให้โพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโพรงมดลูกที่สวยและดี จะเรียงตัวเป็น 3 ชั้น โดยมีความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 8-12 มิลลิเมตร หลังจากนั้นเราจะเริ่มยาฮอร์โมน Progesterone ซึ่งอาจจะใช้ Duphaston, Utrogestan หรือ Cyclogest ที่ใช้สอด เพื่อทำให้โพรงมดลูกปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

หลังจากที่ให้ยา Progesterone ไม่ว่าจะเป็นยาสอดหรือยากินครบ 5 วันแล้ว เราก็จะใส่ตัวอ่อนในวันที่ 6

ซึ่งในการใส่ตัวอ่อน จะละลายตัวอ่อนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่จะใส่ตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก โดยการสอดสายอ่อนๆ เข้าไปในโพรงมดลูก เมื่อตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกแล้ว ก็จะฟักออกมาจากเปลือก หลังจากนั้นตัวอ่อนก็จะเด้งไปมา จนเจอจุดที่มีตัวรับระหว่างเยื่อบุโพรงมดลูกกับตัวอ่อนได้ดีที่สุด ตัวอ่อนก็จะค่อยๆ ฝังตัวเองเข้าไปในโพรงมดลูกของแม่ และเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดของแม่กับลูก

แต่เยื่อบุโพรงมดลูกที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวอ่อน จะมีช่วงเวลาที่จำกัด ไม่ใช่ทุกวันของรอบเดือน  ถ้าเป็นรอบเดือนธรรมชาติ ช่วงเวลาที่เยื่อบุโพรงมดลูกเหมาะสมที่สุดสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน (Window of Implantation) คือประมาณวันที่ 19-21 ของรอบเดือน นับจากประจำเดือนมาวันแรก ซึ่งคาดว่าในรอบเดือนที่ใช้ฮอร์โมนเตรียม ก็จะอยู่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน หรือประมาณวันที่ 6 ของการเริ่มยาฮอร์โมน Progesterone

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับยาฮอร์โมน Progesterone คนไข้บางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก Window of Implantation เร็วกว่าหรือช้ากว่าคนอื่น จึงทำให้กำหนดวันที่เหมาะสมของเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับใส่ตัวอ่อนนั้น มีความคลาดเคลื่อน จึงเป็นที่มาของ “ERA Test” ซึ่งเป็นตัวช่วยบอกว่าวันไหนที่เป็น Window of Implantation

ซึ่งในรอบเดือนปกติ Window of Implantation คือหลังตกไข่ 7 วัน ส่วนในรอบเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยฮอร์โมน โดยปกติแล้วจะเป็นวันที่ 6 ของการเริ่มยาฮอร์โมน Progesterone แต่สำหรับบางคนอาจจะเร็วกว่าหรือช้ากว่าก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยการอัลตราซาวด์หรือการตรวจวัดระดับฮอร์โมน ว่าวันที่ดีที่สุดสำหรับการใส่ตัวอ่อนของคนไข้คนนี้คือวันที่เท่าไหร่


ERA Test ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

กรณีที่เตรียมด้วยการใช้ฮอร์โมนตามปกติ ในวันที่ 2 ของรอบเดือนให้ทานฮอร์โมน Estrogen เช่น Estrofem หรือ Progynova หลังจากนั้นตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าเยื่อบุโพรงมดลูกเรียงตัวสวย และมีความหนาได้ขนาดพอดีแล้วหรือยัง ถ้าดีแล้วก็จะเริ่มสอดยาฮอร์โมน Progesterone 5 วันเต็ม หลังจากนั้นวันที่ 6 จึงจะตรวจ ERA Test

เราจะต้องกำหนดเวลา โดยนับจากเวลาที่เริ่มฮอร์โมน Progesterone โดสแรก จนถึงเวลาที่ตรวจ ERA Test เพราะใน ERA Test จะมีคำถามว่าเราใช้ฮอร์โมน Progesterone กี่ชั่วโมงก่อนที่จะใส่ตัวอ่อน

ยกตัวอย่างเช่นถ้าใช้ฮอร์โมน Progesterone 125 ชั่วโมงก่อนการใส่ตัวอ่อน ERA Test ก็จะทดสอบว่า 125 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้าผลออกมาแล้วไม่เหมาะสม ก็จะบอกว่าควรใส่ตัวอ่อนที่กี่ชั่วโมง เช่น ควรใส่เร็วขึ้นที่ 110 ชั่วโมง หรือยืดออกไปที่ 140 ชั่วโมง ทำให้เรารู้ว่ารอบเดือนต่อไปที่เราต้องการจะใส่ตัวอ่อนจริงๆ เราควรจะใส่ตัวอ่อนหลังสอดยากี่ชั่วโมง กี่วัน

เมื่อสอดยาฮอร์โมน Progesterone ไป 5 วันเต็ม และทำ ERA Test ในวันที่ 6 โดยจะเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก คุณหมอจะนำสายหลอดพลาสติกยาวๆ สอดเข้าไปในโพรงมดลูกด้านบน โดยจะยืดแกนขยับเข้าออกไปมา ทำให้มีแรงดูดเอาชิ้นเนื้อของโพรงมดลูกออกมาประมาณ 2 กรัม มาใส่ในหลอดน้ำยา และนำไปแช่ในตู้เย็น เพื่อรอส่งไปตรวจที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เวลารอผลประมาณ 14 วัน หลังทำคนไข้อาจจะมีอาการหน่วงท้องนิดหน่อย


แล้วนำชิ้นเนื้อไปตรวจอะไรบ้าง?

ชิ้นเนื้อที่ได้จะถูกนำไป Extract DNA เพื่อตรวจ NGS เหมือนกับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน แต่ NGS ในที่นี้คือการตรวจยีน ที่มีผลวิจัยมาแล้วว่าในผู้หญิงที่มีลูกง่ายจะต้องมียีนประมาณไหน หรือผู้หญิงที่มีลูกยากจะมียีนประมาณไหน และในช่วงเวลาที่ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีที่สุดในผู้หญิงที่มีลูกง่ายจะมีแพทเทิร์นของยีนเป็นแบบไหน แล้วนำมาเทียบกับค่าของคนไข้ ทำให้สามารถบอกได้ว่าช่วงเวลาที่เก็บชิ้นเนื้อมาเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวอ่อนแล้วหรือยัง ถ้ายังควรจะต้องเป็นกี่ชั่วโมง หรือกี่วัน หลังจากที่เริ่มสอดยา Progesterone

โดยผลตรวจจะแจ้งว่าเป็น Pre-Receptive, Receptive, Post-Receptive หรือ Non-Informative 

  • Pre-Receptive คือมีการเปลี่ยนแปลงของผนังมดลูกตามฮอร์โมน Progesterone น้อยหรือช้ากว่าคนทั่วไป ซึ่งจะต้องดีเลย์วันที่ใส่ตัวอ่อนออกไปอีก อาจจะ 1-2 วัน ซึ่งก็จะมีคำแนะนำในผลรายงานว่าควรจะใส่ที่กี่ชั่วโมง เช่น 156 ชั่วโมง +/- 3 ชั่วโมง หลังเริ่ม progesterone เป็นต้น
  • Non-Informative คือไม่สามารถแปลผลได้ ต้องเก็บผลใหม่
  • Receptive คือ เวลาที่เก็บชิ้นเนื้อไปตรวจเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกรอบต่อไป ก็ให้ใช้ที่ระยะเวลาเดียวกับที่ทำในรอบที่เตรียมผนังเพื่อตรวจ ตามช่วงเวลาที่ Receptive  
  • Post-Receptive คือ มีการเปลี่ยนแปลงของผนังมดลูกตามฮอร์โมน Progesterone เร็วเกินไป ทำให้ผนังมดลูกแก่เกินกว่าจะรับตัวอ่อนเพื่อฝังตัวได้ ลักษณะนี้โดยทั่วไปจำเป็นต้องปรับระยะเวลาในการเริ่ม Progesterone ให้สั้นลง และทำการตรวจซ้ำอีกรอบ

ใครบ้างที่ควรทำ ERA Test?

คนไข้ไม่จำเป็นต้องทำ ERA Test ทุกคน เพราะเปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในระยะที่ไม่รับกับตัวอ่อน มีแค่ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่มีปัญหาการใส่ตัวอ่อนคุณภาพดีที่ใส่หลายครั้งแล้วไม่ตั้งครรภ์ นั่นคือไม่ได้หมายถึง 30% ของผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องมีลูกยาก หรือที่มีปัญหาเรื่อง Window of Implantation ดีเลย์ไม่เหมือนคนอื่น

เพราะฉะนั้นการทำ ERA Test จะเลือกทำในคนไข้ที่เคยมีประวัติเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกสวยและมีความหนาโอเค ใช้ยาฮอร์โมน Progesterone ตรวจระดับฮอร์โมนแล้วดี ไม่มีปัญหา คุณภาพของตัวอ่อนมีคุณภาพดี ตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนแล้ว ใส่ตัวอ่อนง่าย หรือตรวจดูภูมิคุ้มกันแล้ว ซึ่งดูแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นก่อนที่จะใส่รอบตัวอ่อนต่อไป การทำ ERA Test ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้

และอาจใช้ตรวจในกรณีที่ได้ตัวอ่อนมายากลำบากและมีตัวอ่อนน้อย การตรวจก็จะช่วยทำให้สามารถเตรียม Cycle ที่ดีที่สุด เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด

จากรายงานต่างๆ ที่บริษัท ERA ได้เคลมว่า สามารถช่วยในเรื่องการฝังตัวของตัวอ่อน เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยชี้แจงว่าอาจจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้ประมาณ 15-20% ของคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการฝังตัวอ่อนที่ผิดปกติ

หากถามว่าจำเป็นที่ต้องใช้ ERA Test ในทุกคนหรือไม่ คุณหมอคิดว่า ERA Test เหมาะกับคนไข้ที่มีปัญหา หรือมีตัวอ่อนน้อย น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่าที่จะเลือกทำในทุกคน

เคสที่คนไข้ที่ใส่ตัวอ่อนหลายรอบแต่ไม่สำเร็จ ก็จะแนะนำให้ทำ ERA Test แต่เมื่อฟังวิธีการเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก ซึ่งดูคล้ายกับการขูดมดลูก แต่ไม่มีการดมยาสลบ แล้วคนไข้เกิดความกลัว คุณหมอจึงลองปรับไปใช้วิธีรอบเดือนธรรมชาติ ซึ่งการดูดซึมยาของคนไข้ที่ใช้ฮอร์โมนจากภายนอกอาจจะมีปัญหา ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโพรงมดลูกทำได้ไม่ดีพออย่างที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าคนไข้มีฮอร์โมนที่สร้างด้วยตัวเอง และมีการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกของตัวเอง อาจจะทำให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกทำได้ดีกว่าการใช้ยา จึงเป็นที่มาของการใช้รอบเดือนธรรมชาติเพื่อย้ายตัวอ่อน

เมื่อประจำเดือนมา ก็จะให้กินยากระตุ้นให้ไข่โต เหมือนการทำ IUI เมื่อกินยา ก็จะมีไข่โตประมาณ 1-2 ใบ และไข่ใบนั้นก็จะสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเองตามธรรมชาติ แล้วก็จะตามดูว่าไข่โตเต็มที่เมื่อไหร่ ไข่จะตกเมื่อไหร่ หรืออาจจะฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก เพื่อที่จะได้รู้วันที่จะฝังตัวอ่อนได้แน่นอนขึ้น หรืออาจจะไม่ใช้ยาอะไรเลย ก็จะติดตามไปเรื่อยๆ จนรู้ว่าคนไข้ไข่ตกวันไหน เช่น ถ้าไข่ตกวันที่ 1 เราก็จะรู้ว่าต้องใส่ตัวอ่อนวันที่ 6

เรียกได้ว่า รอบเดือนธรรมชาติอาจจะช่วยการปรับตัวของโพรงมดลูกได้ดีกว่าการใช้ฮอร์โมน และในกรณีที่ไม่อยากทำ ERA Test ก็จะใช้วิธีนี้แทน

อีกทั้งข้อดีของรอบเดือนธรรมชาติ คือการใช้ยาน้อย โดยในช่วงแรกไม่ต้องกินยา Estrofem หรือ Progynova ที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว หลังจากไข่ตกแล้ว อาจจะใช้หรือไม่ใช้ฮอร์โมน Progesterone เสริมก็ได้ และเมื่อใช้ยาน้อย ผลข้างเคียงจากยาก็จะน้อย ซึ่งอาจจะช่วยเรื่องของ Synchronous ทำให้อายุของตัวอ่อน กับอายุของโพรงมดลูกสัมพันธ์กันได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่เลือกรอบเดือนธรรมชาติได้ จะต้องเป็นคนไข้ที่มีการตกไข่ปกติ และก็มีบางที่เตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกไปแล้วแต่ไข่ไม่โต ซึ่งก็จะทำให้การใส่ตัวอ่อนในรอบนั้นถูกยกเลิกได้

ส่วนข้อเสียของรอบเดือนธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วงใกล้ๆ วันไข่ตก คนไข้อาจจะต้องมาตรวจอัตราซาวด์และเจาะเลือดบ่อยขึ้น เพื่อดูว่าไข่ตกจริงๆ วันไหน อาจทำให้มีความวุ่นวายเล็กน้อย

สุดท้ายแล้วจะเลือกใช้ ERA Test หรือจะลองปรับเป็นรอบเดือนธรรมชาติ ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคนไข้แต่ละคน และการปรึกษาคุณหมอ โดยจะต้องพิจารณาร่วมกันเป็นรายบุคคล ซึ่ง ERA Test เป็นเหมือนเทคนิคใหม่ที่อาจจะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้นนั่นเอง

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

Happy Chinese New Year เตรียมพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่ของ #เด็กปีงูเล็ก

อยากได้เบบี๋ปีงูเล็ก ควรเตรียมตั้งครรภ์ภายในเดือนเมษายน ลักษณะนิสัยของเด็กปีงูเล็ก จะมีความจำเป็นเลิศ มีอารมณ์ขัน ไหวพริบดี ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จิตใจเด็ดเดี่ยว ขยัน อดทน และชอบช่วยเหลือผู้อื่น

Embryo Glue และ MSS เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

Embryo Glue เป็นน้ำยาที่ใช้ในการย้ายตัวอ่อน ส่วน MSS (Microfluidic Sperm Sorting) คือการเทคนิคการคัดกรองสเปิร์มแบบใหม่แล้ว 2 อย่างนี้ สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.47 ❝ ท้องแล้ว แต่มีเลือดออก ทำอย่างไรดี ต้องกังวลไหม ❞

หากกำลังตั้งท้องแล้วมีเลือดออก หรือมีภาวะแท้งคุกคามควรทำอย่างไร ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแท้ง และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแท้งในครั้งต่อไป