𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.42 𝐖𝐨𝐫𝐥𝐝 𝐄𝐦𝐛𝐫𝐲𝐨𝐥𝐨𝐠𝐢𝐬𝐭 𝐃𝐚𝐲 25 กรกฎาคม วันนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโลก
“Embryologist หรือ นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน คือใคร ปฏิบัติหน้าที่อะไรกันบ้าง”
วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองของ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งวันนี้เมื่อปี 1978 เป็นวันที่เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก ที่ชื่อว่า Louise Brown ได้ถือกำเนิดขึ้น จากผลงานของ Sir Robert Geoffrey Edwards ซึ่งเป็นนักสรีรวิทยาชาวอังกฤษและเป็นผู้บุกเบิกด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการปฏิสนธินอกร่างกาย และได้รับรางวัลโนเบลในปี 2010
เพื่อเป็นเกียรติแก่ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จึงได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีเป็น World Embryologist Day นั่นเอง
นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน หรือ Embryologist มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้มีบุตรยากอย่างไร?
นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน คือผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการการทำเด็กหลอดแก้วในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเก็บไข่ การคัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์เพื่อนำมาผสมกับไข่ การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน การคัดเลือกตัวอ่อนที่มีศักยภาพย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก รวมไปจนถึง การแช่แข็งไข่ อสุจิ และ ตัวอ่อน
โดยทุกๆ ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะเฉพาะทาง ของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีขั้นตอนที่สำคัญได้ดังนี้
1. การตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก :
ฝ่ายหญิงจะมีการตรวจหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติที่ รังไข่ ท่อนำไข่ ผนังมดลูก หรือระดับฮอร์โมน ส่วนฝ่ายชายจะมีการตรวจคุณภาพของอสุจิ ทั้งจำนวน การเคลื่อนไหว ตลอดจนรูปร่างของอสุจิ
2. กระบวนการกระตุ้นไข่ :
สำหรับฝ่ายหญิงจะเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่ โดยคุณหมอจะให้ฮอร์โมน เพื่อให้ได้ไข่ที่สุกพร้อมกัน หลายๆ ใบ ส่วนฝ่ายชายเตรียมตัวดูแลตัวเอง โดยการงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ได้อสุจิมีคุณภาพดี
3. กระบวนการเก็บไข่ :
เริ่มเข้าสู่กระบวนการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน สำหรับฝ่ายหญิง เมื่อกระตุ้นไข่ 10-12 วัน ฟองไข่จะโตสมบูรณ์ จะถูกเก็บไข่ออกจากร่างกายผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่งของฟองไข่ และใช้เข็มเฉพาะดูดเก็บไข่ออกมาพร้อมกับสารน้ำ ส่งให้นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ตรวจหาไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบไข่แล้ว จะทำการเก็บไข่ที่ได้มาเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อรอผสมกับอสุจิในขั้นตอนต่อไป
4. การเก็บและคัดแยกตัวอสุจิ :
ฝ่ายชายจะเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ด้วยวิธีการช่วยตัวเอง และส่งให้ปฏิบัติการเตรียมอสุจิ โดยการคัดเซลล์ต่างๆ ที่ไม่สมบูรณ์ออก เช่น เศษเซลล์ เม็ดเลือดต่างๆ ที่ปนมากับน้ำเชื้อ โดยจะคัดให้เหลือแต่อสุจิที่มีคุณภาพดี หากฝ่ายชายเคยทำหมัน หรือตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ จำเป็นต้องเจาะดูดจากอัณฑะโดยตรง
5. กระบวนการปฏิสนธิ :
เมื่อเก็บไข่เรียบร้อย ก็จะทำการผสมด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ซึ่งเป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด โดยเตรียมอสุจิให้ได้จำนวนที่เหมาะสม และให้อสุจิว่ายเข้าไปหาไข่เอง หรือการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ซึ่งจะเป็นการดูดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเข็ม และยิงเข้าไปในไข่ ซึ่งจะใช้เครื่องมือและกล้องจุลทรรศน์ที่มีความละเอียดมากในห้องปฏิบัติการ และใช้ความชำนาญของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนด้วย
6. การเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ :
กระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Blastocyst Culture) เป็นการเลี้ยงตัวอ่อนด้วยน้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโดยเฉพาะ ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น รวมไปจนถึงก๊าซต่างๆ เป็นกระบวนการเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายมากที่สุด โดยทำการเลี้ยงตัวอ่อนจะมีการติดตามดูพัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละวัน ไปจนถึง ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) Day 5 หรือ Day 6 ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนมีความเหมาะสมกับการฝังตัว สามารถใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น
Day 1 : ติดตามการปฏิสนธิ (16-18 ชั่วโมง หลังการผสมไข่และอสุจิ) ซึ่งการปฏิสนธิปกติ คือการพบ PN หรือ Pronuclear 2 อัน ที่มาจากคุณพ่อและคุณแม่
Day 3 : ติดตามการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อน (66 ชั่วโมง + 2 ชั่วโมง หลังการผสมไข่และอสุจิ) โดยตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์ตั้งแต่ 6-8 เซลล์ ไม่พบเศษเซลล์อื่นๆ และ vacuole ในตัวอ่อน ถือว่ามีการแบ่งตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
Day 4 : เซลล์จะเริ่มกลับมารวมกัน โดยผิวของเซลล์แต่ละเซลล์จะเข้ามาเชื่อมกัน แต่ยังมีการแบ่งเซลล์ขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าสู่ระยะ Morula มีลักษณะคล้ายๆ ลูกน้อยหน่า
Day 5 : เข้าสู่ตัวอ่อนระยะ Blastocyst จะมีกลุ่มเซลล์ 2 กลุ่มที่แยกกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกเรียกว่า Inner Cell Mass หรือกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นทารก ส่วนเซลล์รอบๆ เรียกว่า Trophectoderm หรือกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรก เกาะกับผนังเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่
Blastocyst Grading จะใช้พยัญชนะ 2 ตัว เช่น เกรด AA หรือเกรด AB
A คือดีที่สุด ส่วน B หรือ C ก็จะมีคุณภาพที่ลดลงไป โดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลือกตัวอ่อนที่เหมาะสมสำหรับการย้ายกลับ หรือสำหรับการตรวจโครโมโซม รวมถึงการเลือกตัวอ่อนเพื่อการแช่แข็ง จะต้องมีเกรดที่ดีทั้ง Inner Cell Mass และ Trophectoderm ซึ่งตัวอ่อนที่มีเกรด CC จะมีโอกาสประสบความสำเร็จลดลง
การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ร่วมกับการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (PGT) จะช่วยเพิ่มโอกาสได้ตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติ หรือปราศจากยีนก่อโรค ก่อนการย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ทำให้ประสบความสำเร็จการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น
7. ย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก :
นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี มีศักยภาพสูงในการฝังตัว และใช้สายย้ายตัวอ่อนขนาดเล็ก ทำการดูดตัวอ่อน เพื่อให้แพทย์สอดสายย้ายตัวอ่อนผ่านปากมดลูกเพื่อวางตัวอ่อนบนเยื่อบุโพรงมดลูก
8. การแช่แข็งตัวอ่อน :
ตัวอ่อนที่เหลือหรือไม่ได้ใส่กลับในรอบนั้น รวมถึงตัวอ่อนที่รอผลโครโมโซม จะถูกนำไปแช่แข็งด้วยวิธี Vitrification โดยตัวอ่อนที่แช่แข็ง Blastocyst 1 ตัว จะถูกเก็บไว้ 1 straw มีการจัดเก็บที่ไม่ปนกัน และถูกเก็บในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ได้หลายปี เป็นวิธีที่ให้อัตราการรอดหลังละลายตัวอ่อนสูงมากถึงมากกว่า 95% และสามารถกลับมาใส่ตัวอ่อนในภายหลังได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่ใหม่
9. การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม (PGT) :
ในกรณีที่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม หรือการตรวจ PGT ตัวอ่อนที่เหมาะสมสำหรับการนำไปตรวจ ควรอยู่ในระยะ Hatching Blastocyst เป็นต้นไป คือมีเซลล์บางส่วนฟักออกมาจากเปลือก โดยการทำ Biopsy หรือตัดชิ้นเนื้อออกไปประมาณ 3-5 เซลล์จากกลุ่มเซลล์ในส่วน Trophectoderm ซึ่งตัวอ่อนระยะนี้จะมีการสร้างและพัฒนาเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสได้รับความเสียหายจึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยอัตราการรอดของตัวอ่อนหลังจากการทำ Biopsy มีมากกว่า 95% และไม่ได้เป็นกลุ่มเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับ Inner Cell Mass
โดยการทำ Biopsy จะใช้เครื่องมือเดียวกับการทำ ICSI แต่เข็มจะมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อใช้ดูดเซลล์เข้าไปและใช้เลเซอร์ในการยิงเพื่อตัดชิ้นเนื้อได้ง่ายขึ้น และส่งเซลล์ที่ตัดมานั้นให้กับห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์
หลังจากส่งเซลล์ไปตรวจโครโมโซมแล้ว จะรอประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวอ่อนกลับมาฟื้นฟูจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst เต็มที่ จึงนำตัวอ่อนไปแช่แข็งไว้ เพื่อรอผลโครโมโซมต่อไป
10. การติดตามผลการตั้งครรภ์ :
หลังจากย้ายตัวอ่อนไป 12 วัน จะมีการตรวจการตั้งครรภ์และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อคอนเฟิร์มว่าตัวอ่อนมีการฝังตัว
ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และเตรียมอสุจิของ Superior A.R.T. ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 15189 ที่วัดระบบคุณภาพและความสามารถของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมไปถึงงานคุณภาพทั้งหมดของคลินิค ได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพจาก ISO 9001 เพื่อการทำงานมีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของห้องปฏิบัติการ การรายงานผล หรือการตรวจสอบเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานและอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล
ในทุกๆ วัน ก่อนจะเริ่มปฏิบัติงาน นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะตรวจความเรียบร้อยและความพร้อมของตู้เลี้ยงตัวอ่อนและเครื่องมือต่างๆ โดยทำการตรวจเช็ค อุณหภูมิ ระบบแก๊ส ไปจนถึง VOC
ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วนั้น การระบุตัวตนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นจะต้องมีการทำ Double-Checking โดยระหว่างที่คนหนึ่งทำงาน จะมีอีกหนึ่งคนคอยตรวจสอบว่าสิ่งที่กำลังปฏิบัตินั้น จะต้องตรงกับเอกสาร และที่ Superior A.R.T มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การระบุตัวตนนั้นถูกต้องมากยิ่งขึ้น คือการใช้ Electronic Witness หรือที่เรียกว่า Gidget®
การทำ Gidget® จะมี QR code ติดอยู่ที่หลอดเก็บอสุจิหลังเตรียม จานเลี้ยงไข่และตัวอ่อน โดยจะต้องสแกน QR code คู่กันให้ถูกต้อง ถ้าผิดคนจะเริ่มงานไม่ได้
นอกจากนี้นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ยังมีส่วนช่วยแพทย์ ในการประเมินผลการรักษาของคนไข้อีกด้วย โดยวิเคราะห์จากประวัติการรักษาที่ผ่านมาทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ประวัติการเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อหาสาเหตุและใช้เทคนิคที่เหมาะสม เพื่อให้ได้คุณภาพของตัวอ่อนที่ดีขึ้นและประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากที่สุด
ที่ Superior A.R.T. นอกจากจะมีห้องแล็บเลี้ยงตัวอ่อนเป็นของตัวเองแล้ว ยังมีห้องแล็บพันธุศาตร์ Genetics ทำให้สามารถตรวจไข่ อสุจิ และตัวอ่อน และวิเคราะห์ผลจบได้ในที่เดียว โดยไม่จำเป็นต้องขนย้ายออกไปตรวจที่อื่นเลย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาการมีบุตร สามารถติดต่อที่ Superior A.R.T. ได้ทุกวัน โทร 02 035 1400, 063 904 8899 หรือ 𝗟𝗜𝗡𝗘 – https://lin.ee/PNs9KvZ