ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.50 ❝ มีบุตรยาก..ทำอย่างไรให้ท้อง ❞


มีบุตรยาก ทำอย่างไรให้ท้อง?” 


เนื้อหาในตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่


1. การมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ

ปกติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะต้องมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งด้านโครงสร้าง และด้านการทำงานที่ปกติ โดยฝ่ายชายจะต้องมีตัวอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรง มีการสร้างอสุจิที่ปกติ รวมถึงการหลั่งออกมาภายนอกที่ปกติ ส่วนฝ่ายหญิงจะต้องมีฟองไข่ที่โต คุณภาพไข่ที่สมบูรณ์ ตกมารอการปฏิสนธิกับตัวอสุจิตรงบริเวณท่อนำไข่ ในผู้หญิงที่มีอายุมาก จำนวนฟองไข่จะน้อยลง คุณภาพอาจจะลดลง ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน


เกิดอะไรขึ้นเมื่อฟองไข่ตก?

หลังจากฟองไข่ตกตรงบริเวณท่อนำไข่ ฟองไข่จะมีอายุราวประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องมีตัวอสุจิ มาปฏิสนธิภายใน 24 ชั่วโมง โดยตัวอสุจิจะวิ่งจากช่องคลอดผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และวิ่งเข้าไปถึงบริเวณท่อนำไข่ ถ้าหากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ไข่ตกพอดี ตัวอสุจิก็มีโอกาสที่จะมาปฏิสนธิกับฟองไข่ที่บริเวณท่อนำไข่ และจะเจริญพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน จะเห็นได้ว่านอกจากฝ่ายหญิงจะต้องมีฟองไข่ที่สมบูรณ์แล้ว ท่อนำไข่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะตัวอสุจิจะต้องวิ่งมาปฏิสนธิกับฟองไข่ที่บริเวณท่อนำไข่

เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ตัวอ่อนที่ปกติจะเดินทางเคลื่อนจากท่อนำไข่เพื่อย้ายไปฝังตัวในบริเวณโพรงมดลูก และเติบโตกลายเป็นทารกในครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์จนครบ 9 เดือน ก็จะคลอดออกมาเป็นเด็กน้อยที่แข็งแรง


จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อท้องธรรมชาติแล้วจะมีตัวอ่อนที่ปกติ?

หากตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติจะไม่สามารถทราบได้ ยกเว้นจะรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI จึงจะสามารถดูรูปร่างลักษณะและพัฒนาการของตัวอ่อนได้ภายในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน

จะเห็นได้ว่า การจะเกิดการตั้งครรภ์ต้องอาศัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตัวอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงของฝ่ายชาย การมีจำนวนอสุจิ การวิ่ง รูปร่างหน้าตา และความสามารถในการเจาะฟองไข่ที่ดี รวมถึงการมีฟองไข่ที่คุณภาพดีสมบูรณ์ของฝ่ายหญิง มีการตกไข่ที่ปกติ ท่อนำไข่ไม่ตีบตัน ผนังโพรงมดลูกที่หนาดีและปกติ ไม่มีก้อนเนื้องอกหรือติ่งเนื้อที่ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

ส่วนปัจจัยของเรื่องตัวอ่อน ก็ต้องเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์แข็งแรง รูปร่างลักษณะ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของตัวอ่อนสมบูรณ์ตามเกณฑ์ และมีโครโมโซมปกติ ก็จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นถ้าหากมีการฝังตัวที่ดี


เมื่อตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ทำไมถึงแท้งหรือท้องนอกมดลูก อะไรคือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก?

  • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นความผิดปกติในการปฏิสนธิของฟองไข่ที่ไม่มีจำนวนชุดโครโมโซมกับตัวอสุจิที่มีโครโมโซมปกติ
  • ท้องนอกมดลูก คือ ตัวอ่อนที่ควรจะเลื่อนตัวมาฝังบริเวณโพรงมดลูก กลับไปฝังบริเวณอื่น เช่น ฝังที่ท่อนำไข่ ซึ่งทำให้เกิดท้องนอกมดลูก
  • การแท้ง คือ การที่ตัวอ่อนฝังในบริเวณโพรงมดลูกปกติ แต่อาจจะยึดเกาะไม่ดี หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ มีโครโมโซมผิดปกติ รวมถึงฮอร์โมนอื่นๆ ที่สนับสนุนการฝังตัวมีความผิดปกติ

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องอัตราการตั้งครรภ์ของผู้หญิงในอายุที่แตกต่างกันไป แสดงให้เห็นว่าเมื่ออายุที่มากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง หากอายุประมาณ 20-30 ปี ไม่เกิน 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์ก็จะสูงกว่า ซึ่งในแต่ละรอบเดือน โอกาสตั้งครรภ์ของผู้หญิงในแต่ละช่วงอายุก็จะแตกต่างกันไป โดยเปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์ก็จะลดลงตามอายุ

  • อายุ 20-30 ปี หรือไม่เกิน 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์ในแต่ละรอบเดือนอยู่ที่ประมาณ 20%
  • อายุ 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์ในแต่ละรอบเดือนอยู่ที่ประมาณ 10%
  • อายุมากกว่า 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์ในแต่ละรอบเดือนอยู่ที่ประมาณ 5%

อย่างไรก็ตาม ในคู่สมรสที่ไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่ภายใน 3 เดือนแรกมีโอกาสตั้งครรภ์ 50 คู่ จาก 100 คู่ และใน 1 ปีมีโอกาสตั้งครรภ์ 85 คู่ จาก 100 คู่


หากปล่อยธรรมชาติแต่ยังไม่มีลูก ต้องรอต่อไปอีกนานแค่ไหนถึงควรปรึกษาคุณหมอ?

ในคู่สมรสที่อยากมีบุตร และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปีแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ควรเข้ามาปรึกษาคุณหมอเพราะอาจจะเข้าข่ายมีภาวะมีบุตรยาก แต่ในกรณีที่อายุมากไม่จำเป็นต้องรอนานถึง 1 ปีก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้ หรืออาจจะไม่ได้มีภาวะมีบุตรยาก แต่กำลังวางแผนจะมีบุตร ก็แนะนำให้เข้ามาปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมทำให้ตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้นหรือตามแผนที่วางไว้ ซึ่งก็คือการวางแผนร่วมกันกับแพทย์ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาก็ได้


เมื่อไหร่ที่ควรเข้ามาปรึกษาคุณหมอ?

  • มีภาวะมีบุตรยาก
  • พร้อมวางแผนมีบุตร
  • คู่สมรสที่มีโรคบางอย่างหรือมีแนวโน้มมีบุตรยาก เช่น ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีก้อนเนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ หรือผู้ชายที่เคยผ่านการผ่าตัดเส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ หรือที่กินยาบางชนิดที่กดฮอร์โมนเพศชาย เช่น ยารักษาผมร่วง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำเชื้อมีจำนวนตัวอสุจิน้อย

แนะนำให้นัดคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาการมีบุตร โดยอาจยังไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะสาเหตุที่ทำให้แต่ละคู่มีบุตรยากอาจจะไม่เหมือนกัน การเข้ามาพูดคุยกับคุณหมอเป็นการช่วยกันหาสาเหตุและหาวิธีปรับพฤติกรรมที่อาจจะเป็นปัจจัยของภาวะมีบุตรยากในอนาคต ทำให้การวางแผนมีบุตรง่ายขึ้นและเร็วขึ้น


วิธีเตรียมตัวหรือการปฏิบัติตัวเมื่อพร้อมมีบุตร สำหรับคุณแม่ที่อยากท้องด้วยวิธีธรรมชาติ

  • ต้องวางแผนร่วมกันว่าเมื่อไหร่จะพร้อมมีบุตร

ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าให้พร้อมมีบุตรที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้ เพราะการมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยเรื่องฟองไข่ของผู้หญิง ทั้งเรื่องปริมาณ คุณภาพ จะลดลงอย่างชัดเจน

  • เมื่อพร้อมแล้วแนะนำวางแผนเพื่อจะมีบุตร

แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อพูดคุยกัน เพื่อลดปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยากในอนาคต เช่น

  • ฝ่ายชายที่กินยารักษาโรคผมร่วง อาจจะต้องหยุดกินยา เพื่อให้อัณฑะกลับมาทำงาน หรืออสุจิจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ
  • ฝ่ายหญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีภาวะอ้วน หรือมีภาวะ PCOS ซึ่งน้ำหนักหรือไขมันใน ร่างกาย อาจจะมีผลทำให้มีภาวะไข่ไม่ตก หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ โดยปรึกษากับคุณหมอ เพื่อทำการรักษา ควบคุมอาหารและน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงการมีบุตรยากในอนาคต

สำหรับฝ่ายหญิงที่ไม่เคยตรวจภายใน อาจจะต้องเข้ามา Check-up ก่อน เพื่อหาสาเหตุว่ามีโรคอะไรที่อาจจะทำให้มีบุตรยากในอนาคตหรือไม่ บางท่านอาจจะพบว่ามีช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งอาจจะต้องได้รับการผ่าตัดก่อน ซึ่งเป็นการวางแผนร่วมกัน เพื่อจะมีบุตรได้ในเวลาที่พร้อม และอาจจะมีเองตามธรรมชาติได้

  • สังเกตว่าประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่

โดยคุณหมอแนะนำให้จดบันทึกประจำเดือนย้อนหลัง ประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อดูว่าการทำงานของรังไข่ในแต่ละรอบเดือนสม่ำเสมอหรือไม่ จะทำให้คุณหมอจะรู้ได้ง่ายขึ้นว่าสาเหตุใดที่อาจจะทำให้มีบุตรยากในตอนนี้หรือในอนาคต อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไร หรือหาสาเหตุว่าภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเกิดจากอะไร โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอที่พบเจอได้บ่อยคือ

  • ภาวะ PCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ซึ่งจะมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ มีการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่เด่น ไม่ว่าจะเป็น สิว หน้ามัน ขนดก
  • อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ คือภาวะการหลั่งน้ำนมหรือฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) ที่สูง ซึ่งผู้หญิงบางท่านอาจจะมีน้ำนมไหลโดยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือไม่ได้ให้นมบุตร ขณะเดียวกันผู้หญิงบางท่าน แม้ว่าจะไม่มีน้ำนมไหล แต่ค่าฮอร์โมนโพรแลคตินก็อาจจะสูงได้ ซึ่งจะทำให้รังไข่ทำงานไม่ดี และเกิดภาวะไข่ไม่ตกตามมา
  • ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจจะทำให้ไข่ไม่ตก คือโรคไทรอยด์ หากเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการใดๆ โดยฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนการหลั่งน้ำนมสามารถตรวจดูได้ด้วยการเจาะเลือด
  • การนับวันไข่ตก

เช่น การดูวันไข่ตกในแอปพลิเคชั่นที่จะบอกว่าไข่ตกวันไหน โดยจะใช้การคาดคะเนจากรอบเดือนในอดีต แต่คุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจฮอร์โมนไข่ตก ซึ่งเป็นการตรวจที่แม่นยำกว่าการใช้แอปพลิเคชั่น โดยการตรวจชุด LH Test เป็นการตรวจฮอร์โมนในร่างกาย ณ รอบประจำเดือนนั้นว่าไข่น่าจะตกประมาณวันไหน ซึ่งเมื่อไข่ตกจะอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อรอตัวอสุจิมาปฏิสนธิ ดังนั้นก็จะต้องมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันที่ไข่ตก หรือภายหลังไข่ตกไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

  • การมีเพศสัมพันธ์

ในฝ่ายหญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ มีการตรวจ LH Test แล้วไข่ตกทุกเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก โอกาสตั้งครรภ์ก็จะสูงขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งหากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ที่สม่ำเสมอ โอกาสตั้งครรภ์ก็จะลดน้อยลง ที่สำคัญก็คือ หลังมีเพศสัมพันธ์ คุณหมอจะแนะนำให้ฝ่ายหญิงนอนและยกสะโพกให้สูง ไม่ลุกทันที และไม่สวนล้างช่องคลอด เพื่อที่ตัวอสุจิจะได้ขังอยู่ในบริเวณปากมดลูกและมีโอกาสวิ่งผ่านปากมดลูกเข้าไปด้านในให้มากที่สุด โดยตัวอสุจิจะอยู่ในอุ้งเชิงกรานฝ่ายหญิงได้ประมาณ 2-3 วัน หรือหากไม่ทราบวันไข่ตก อาจจะต้องมีเพศสัมพันธ์ถี่ขึ้น ทุกๆ 2-3 วัน แต่หากถี่เกินไปก็อาจจะไม่ดี เพราะเมื่อปล่อยอสุจิออกไปแล้ว ฝ่ายชายต้องใช้เวลาในการสร้างและลำเลียงเชื้ออสุจิออกมาใหม่

  • การปฏิบัติตัว 3 ดี และ 3 งด

3 ดี คือ

  • กินอาหารดี มีประโยชน์ กินอาหารที่มีโปรตีนสูง กินผักผลไม้ รวมถึงวิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ
  • แข็งแรงดี โดยการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ไม่ให้มีไขมันเยอะเกินไป ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
  • นอนดี พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ตามเวลาที่ Growth Hormone หลั่ง ซึ่งมีผลต่อการสร้างฟองไข่ที่ดี

3 งด คือ

  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • งดหวาน หากกินหวานเกินไป อาจมีผลทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของฟองไข่

2. การรักษาภาวะมีบุตรยาก

เมื่อเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุการมีบุตรยาก คุณหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการสืบค้น เช่น ทำอัลตราซาวน์เพื่อดูมดลูกและรังไข่ การเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนเพื่อดูการทำงานของรังไข่

โดยมีอีกหนึ่งทางเลือกในการมีบุตรแบบผสมผสานด้วยวิธีธรรมชาติพร้อมกับการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งคุณหมอจะช่วยตรวจเรื่องการตกไข่ และรักษาเรื่องไข่ไม่โตหรือไข่ไม่ตก ด้วยการจ่ายยาฮอร์โมนช่วยกระตุ้นให้ฟองไข่โต พร้อมกับทำอัลตราซาวน์เพื่อตรวจดูวันที่ฟองไข่โต และจะฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก หลังจากนั้นจะนัดวันให้คนไข้ไปมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้

สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากจะมี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่

1) IUI กระบวนการฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก

การทำ IUI จะเริ่มจากการกินยากระตุ้นไข่ อัลตราซาวด์ดูฟองไข่ และฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก โดยเมื่อถึงวันที่ไข่ตกคุณหมอจะนัดมาฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก แทนการไปมีเพศสัมพันธ์เอง ซึ่งวิธีนี้เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ เพราะมีการปฏิสนธิภายในร่างกาย โดยอัตราความสำเร็จจะอยู่ที่ราวๆ 10-15% ต่อรอบการรักษา

ข้อดีของกระบวนการนี้ คือมีฟองไข่ที่โต และตกมารออสุจิบริเวณท่อนำไข่ และแทนที่จะให้ตัวอสุจิวิ่งเข้าไปในโพรงมดลูกเอง ซึ่งอาจจะมีการติดมูกที่อยู่ตรงปากมดลูก ทำให้มีจำนวนอสุจิเข้าไปน้อยลง ก็จะเป็นการฉีดน้ำเชื้อโดยการสอดสายเข้าไปในโพรงมดลูก ตัวอสุจิจะวิ่งระยะทางสั้นลง แล้วมาเจอฟองไข่ในวันที่ไข่ตก ทำให้เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าแบบธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายหญิงมีประวัติท่อนำไข่ตัน ตัวอสุจิก็ไม่สามารถวิ่งไปเจอฟองไข่ได้ ดังนั้นก็จะไม่เกิดการปฏิสนธิและจะไม่เกิดการตั้งครรภ์ หากต้องการใช้วิธีนี้ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างตันหรือไม่

การทำ IUI จึงถูกใช้ในการรักษาคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ที่สามารถทำได้ เช่น ฝ่ายหญิงอาจจะมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชาย อาจจะมีอาการเจ็บหรือกลัวการมีเพศสัมพันธ์ การมาฉีดเชื้อโดยใส่สายเล็กๆ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า หรือฝ่ายชายที่มีการตรวจน้ำเชื้อแล้ว พบความผิดปกติของอสุจิเพียงเล็กน้อย ก็สามารถรักษาด้วยวิธี IUI ได้

ส่วนคู่สมรสที่ไม่เหมาะจะทำ IUI คือ มีท่อนำไข่ตัน และผู้ที่ต้องการบุตรที่ไม่มีโรคทางพันธุกรรม เพราะบางท่านอาจจะมีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว และจำเป็นต้องการมีบุตรที่ไม่เป็นโรคทางพันธุกรรมนั้นๆ ซึ่งวิธี IUI จะไม่สามารถตรวจได้ว่าตัวอ่อนผิดปกติหรือไม่ มีโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ จะต้องรักษาโดยใช้วิธี ICSI ร่วมกับการตรวจพันธุกรรมก่อนที่จะใส่ตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเท่านั้น

2) การทำ IVF/ICSI หรือทำเด็กหลอดแก้ว

ในปัจจุบัน กระบวนการทำ IVF ได้รับความนิยมน้อยกว่าวิธี ICSI เนื่องจาก ICSI ประสบความสำเร็จมากกว่า โดยวิธี IVF จะเป็นการนำอสุจิหลายตัวมาวางในจานเพาะเลี้ยงเพื่อให้เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ 1 ฟอง ในขณะที่วิธี ICSI จะเป็นการเลือกตัวอสุจิ 1 ตัวและฉีดเข้าไปในฟองไข่โดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งวิธีนี้ไม่ว่าฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายจะมีความผิดปกติในเรื่องไหน เช่น ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ที่ตันทั้ง 2 ข้าง มีช็อกโกแลตซีสต์ หรือฝ่ายชายมีอสุจิที่ผิดปกติ มีจำนวนน้อยมากๆ ก็สามารถรักษาด้วยวิธี ICSI ได้

โดยอัตราความสำเร็จจะอยู่ที่ราวๆ 40-50% ต่อรอบการรักษา แต่หากมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนร่วมด้วยแล้วผลออกมาปกติ อัตราความสำเร็จจะสูงขึ้นถึง 60-70% ต่อรอบการรักษา

ขั้นตอนการทำ ICSI เริ่มจากการกระตุ้นไข่โดยการฉีดยา เพื่อให้ฟองไข่โตไปพร้อมๆ กัน ส่วนใหญ่จะฉีดยาประมาณ 10-12 วัน หลังจากนั้นจะมีการเก็บไข่ เจาะฟองไข่มาปฏิสนธิกับอสุจิ ดังนั้นจะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นแน่นอน และเมื่อตัวอ่อนเจริญพัฒนาขึ้น เราก็สามารถดูรูปร่างลักษณะและพัฒนาการของตัวอ่อนได้ภายในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน รวมถึงสามารถนำเซลล์บางส่วนไปตรวจโรคทางพันธุกรรมได้ ก่อนย้ายตัวอ่อนมาวางและฝังในโพรงมดลูก หลังจากนั้นก็จะเจาะเลือดเพื่อดูการตั้งครรภ์

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ตันทั้ง 2 ข้าง หรือในกรณีที่การทำงานของรังไข่น้อย มีจำนวนฟองไข่เหลือน้อย หรือมีอายุมาก หากเลือกรักษาด้วยวิธี IUI ทุกรอบเดือน อัตราความสำเร็จอาจจะต่ำ การทำงานของรังไข่ก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ แนะนำตรวจดูค่าฮอร์โมน AMH เพื่อดูการทำงานของรังไข่ ว่ามีฟองไข่เหลือมากหรือน้อย ควรจะรีบหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่จำนวนไข่เหลือน้อยหรือมีอายุมาก อาจจำเป็นต้องเร่งรีบในการรักษาด้วยวิธี ICSI มากกว่าด้วยวิธี IUI (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AMH : 𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄: 🅔🅟.49 ❝AMH ต่ำ ทำอย่างไรดี❞) รวมถึงฝ่ายชายที่มีเชื้ออสุจิผิดปกติมาก การทำ ICSI จะช่วยคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงมาปฏิสนธิกับฟองไข่เพื่อเป็นตัวอ่อนนั่นเอง

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีข้อสงสัยหรือสนใจแพ็กเกจต่างๆ ของ Superior A.R.T. สามารถเข้ามาปรึกษากับคุณหมอได้ทุกวันนะคะ

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

ถามหมอ 💬 : อายุ 40+ มีลูกได้ไหม by หมอจิว

เมื่อผู้หญิงเริ่มมีอายุมากขึ้น ความกังวลเรื่องการมีบุตรก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนหลายคนมีคำถามว่า อายุ 40 ปีขึ้นไป ยังมีโอกาสมีลูกได้หรือไม่?

สเปิร์มน้อย สเปิร์มไม่แข็งแรง แก้ไขได้ ถ้ารู้ก่อน

สเปิร์มน้อย สเปิร์มไม่แข็งแรง แก้ไขได้ ถ้ารู้ก่อน ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพคู่รัก Couple Checkup ในราคาพิเศษเพียง 4,999 บาท

Lab และ Technology ปัจจัยสำคัญที่ห้ามมองข้ามในการเลือกทำ ICSI

เนื่องจากการทำ ICSI เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ห้องปฏิบัติการ (Lab) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง