ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.49 ❝ AMH ต่ำ ทำอย่างไรดี ❞


“AMH ต่ำ ทำอย่างไรดี” 


โดยปกติแล้ว ไข่ของผู้หญิงจะถูกสร้างขึ้นมาเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ในช่วงนั้นจะมีฟองไข่เริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 5,000,000-7,000,000 ใบ หลังจากนั้น จำนวนไข่จะไม่มีการสร้างเพิ่ม แต่จะค่อยๆ ทยอยฝ่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนที่เราเกิด จำนวนไข่จะลดลงเหลือเพียง 1,000,000-2,000,000 ใบเท่านั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการเจริญเติบโตของไข่และมีการตั้งครรภ์ได้ ไข่จะเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ใบ จำนวนไข่จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น จนกระทั่งรังไข่หยุดการทำงานเมื่อเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นช่วงวัยที่แทบจะไม่เหลือไข่ในร่างกายแล้ว

ในอดีต หากต้องการจะเช็คดูว่าจำนวนไข่เหลือมากหรือน้อย คุณหมอจะทำอัลตราซาวด์เพื่อวัดจำนวนฟองไข่เล็กๆ ในช่วงวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน หรือเจาะเลือดดูค่าฮอร์โมน เช่น FSH, LH และ Estradiol ซึ่งค่าฮอร์โมนกับการอัลตราซาวด์ดูฟองไข่ก็จะพอบอกได้ว่ารอบนี้ไข่เราเยอะหรือน้อยขนาดไหน แต่ทั้ง 2 ค่านี้จะช่วยบอกได้แค่จำนวนไข่ของรอบเดือนนั้นๆ เท่านั้น แต่ AMH จะเป็นการบอกภาพรวมในช่วง 1-2 ปี และสามารถตรวจช่วงไหนของรอบเดือนก็ได้ เพราะเป็นค่าคงที่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในระยะที่เท่าๆ กันในช่วง 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ค่า AMH ผิดปกติ หรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การทานยาคุมมาเป็นระยะเวลานาน ยาคุมอาจจะกดให้ไข่ฟองเล็กมากๆ จนกระทั่งสร้างค่าฮอร์โมน AMH ที่น้อยกว่าความเป็นจริง


ใครที่ควรตรวจ AMH?

ในคนไข้ที่อายุเริ่มเยอะ เช่น มากกว่า 38 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก การตรวจ AMH จะเป็นตัวบอกว่าตอนนี้ไข่เราเหลือเยอะหรือน้อย และควรรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีไหน เช่น คู่รักที่อยากจะลองมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติก่อน ก็จะทำให้รู้ว่ามีช่วงเวลาสำหรับการลองมีแบบธรรมชาติได้นานแค่ไหน ถ้ายังมีค่าฮอร์โมน AMH สูงอยู่ ก็อาจจะลองวิธีธรรมชาติก่อนได้ แต่ถ้าจำนวนไข่เหลือน้อย ก็อาจจะต้องใช้วิธีอื่นที่มีโอกาสตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น


ค่า AMH ที่ไม่ดี คือเท่าไร?

โดยทั่วไป เราใช้เกณฑ์ที่ค่า AMH น้อยกว่า 1.1 ng/dL บ่งบอกว่ามีจำนวนไข่น้อย และหากน้อยกว่า 0.5 ถือว่าต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาควบคู่กับอายุของผู้หญิงด้วย เช่น ผู้หญิงอายุ 25 ปี ซึ่งยังอายุน้อยอยู่ แต่มีค่า AMH อยู่ที่ประมาณ 1.5 ในกรณีนี้แม้ว่าค่า AMH ยังมากกว่า 1.1 แต่ถือว่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับผู้หญิงอายุ 25 ปี ซึ่งควรจะมีค่า AMH โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 5-6


ค่า AMH สัมพันธ์กับคุณภาพของไข่หรือไม่?

ค่า AMH มักจะสัมพันธ์กับจำนวนของไข่ มากกว่าคุณภาพของไข่ แม้ว่า AMH จะไม่สามารถบอกถึงคุณภาพไข่ได้ แต่ช่วยบอกถึงเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น ปริมาณไข่ที่เห็นในรอบเดือนนี้ ถือว่าเยอะหรือไม่ ถ้าเทียบกับค่า AMH เพื่อใช้เลือกรอบเดือนที่ดี ในการเริ่มรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว เช่น ถ้าคนไข้มีค่า AMH ดี หรือประมาณ 3 กว่า ซึ่งควรจะเห็นไข่เริ่มต้นประมาณ 10-15 ใบ แต่เจอไข่เพียงแค่ 6 ใบ ตอนวันที่ 2 ของรอบเดือน แปลว่าในรอบนี้ จำนวนไข่ที่รอจะอาจจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรจะข้ามรอบนี้ไปก่อน และรอรอบเดือนอื่นที่มีจำนวนไข่มากกว่า และเหมาะสม สัมพันธ์กับค่า AMH เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด


ค่า AMH สูงมาก บอกอะไรเรา?

หากมีค่า AMH สูงมาก จะสัมพันธ์กับการที่มีจำนวนไข่เยอะมาก ซึ่งก็สัมพันธ์กับภาวะ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือที่เรียกว่าภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โดยภาวะนี้จะทำให้มีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มาเลย มีภาวะฮอร์โมนเพศชายที่สูงเกินไป อาจจะทำให้หน้ามัน สิวขึ้น ขนดก และมีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก เพราะไข่เยอะมากเกินไป ไข่ก็จะดื้อ ไม่โตตามเกณฑ์ หรือเมื่อกระตุ้นไข่ทำเด็กหลอดแก้ว จะพบว่าไข่ผสมกับอสุจิออกมาได้เป็นตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดี เท่ากับคนไข้ที่ไม่ได้เป็น PCOS


ค่า AMH ต่ำ ควรทำอย่างไร

ถ้าค่า AMH ต่ำ จะไม่สามารถแก้ไขให้เพิ่มขึ้นได้ เพราะผู้หญิงไม่มีการสร้างฟองไข่เพิ่มอีกแล้ว (ไข่ถูกสร้างมาเพียงครั้งเดียว ตอนที่อยู่ในท้องคุณแม่ แล้วค่อยๆ ทยอยฝ่อไปเรื่อยๆ หลังเกิด) ซึ่งต่างกับอสุจิของฝ่ายชาย ที่มีการสร้างใหม่ได้เรื่อยๆ ดังนั้นจะต้องเลือกรอบที่วัดจำนวนไข่ได้เยอะ + ฮอร์โมนอยู่ในระดับที่ดี โดยดูจากค่า FSH ไม่ควรสูงมาก ซึ่งจะพอช่วยบอกได้ว่าการกระตุ้นไข่ในรอบนั้นๆ จะมีการตอบสนองที่ดีหรือไม่ เช่น สมมติว่าเห็นไข่อยู่ไม่เยอะ เช่น 6 ใบ แต่ค่าฮอร์โมน FSH ดี หลังจากกระตุ้นไข่ไปก็อาจจะได้ไข่ทั้ง 6 ใบที่โตขึ้นมาได้ทั้งหมด แต่หากค่า FSH สูง ไข่ที่เห็นเริ่มต้น 6 ใบนั้น อาจจะโตไม่พร้อมกัน มีไข่ที่ใช้ได้แค่ 2-3 ใบก็เป็นได้


ถ้าค่า AMH ค่อนข้างน้อย ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้รอบของไข่ที่ดี?

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็น

  • การดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ดี เช่น ไม่เครียด เพราะเวลาที่ร่างกายเครียดจะมีการหลั่งสารที่ไม่เป็นผลดีต่อไข่ อีกทั้งคนไข้ที่เครียด รอบเดือนจะผิดปกติ และสัมพันธ์กับภาวะไข่ไม่ตก
  • งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่โดยเฉพาะในผู้หญิง จะทำให้ร่างกายมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลต่อคุณภาพไข่ และทำให้ไข่ตายเร็วขึ้นมากกว่าคนทั่วไป
  • กินอาหารที่ช่วยบำรุงคุณภาพไข่ เช่น อาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไข่ขาว หรือโปรตีนจากพืช ถั่วอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง และนมอัลมอนด์
  • กินผักผลไม้ที่มีสาร Antioxidant จะช่วยเรื่องคุณภาพของไข่ เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และมะเขือเทศ
  • หลีกเลี่ยงอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตที่มีแป้งสูง และลดปริมาณน้ำตาล เพราะน้ำตาลเป็นเหมือนสารพิษต่อเซลล์ อีกทั้งยังสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งในคนไข้ที่มีภาวะ PCOS จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินอยู่แล้ว ยิ่งถ้าทานหวานมากเท่าไร ไข่ก็อาจจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น เช่น เวลาที่กระตุ้นไข่ ถ้าเห็นว่ามีไข่เยอะมากประมาณ 20 ใบ แต่เมื่อฉีดยากระตุ้นไปแล้วไข่อาจจะโตมาแค่ 10 ใบเท่านั้น
  • การควบคุมน้ำหนัก เพราะน้ำหนักก็สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยน้ำหนักที่เหมาะสม สำหรับผู้หญิง คิดง่ายๆ ก็คือนำส่วนสูง ลบด้วย 100-110 ก็จะเป็นน้ำหนักที่เหมาะสม
  • นอนหลับก่อน 5 ทุ่ม เพราะในช่วงเวลา 5 ทุ่มจนถึงตี 1 เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง Growth Hormone ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่นำมาใช้ช่วยกระตุ้นไข่ในคนไข้ที่มีไข่น้อย อายุเยอะ หรือคนที่มีไข่ที่ตอบสนองไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้น Growth Hormone จะสามารถสร้างขึ้นได้ตามธรรมชาติจากการนอนหลับของเรา
  • การทานวิตามินก่อนที่จะกระตุ้นไข่ หรือในช่วงตั้งครรภ์ เช่น
  • Folic เพราะมีผลต่อกระบวนการหลายๆ อย่างในไข่ รวมถึงหากตั้งครรภ์แล้ว Folic จะช่วยสร้างหลอดสมองของเด็กทารกในครรภ์
  • วิตามินรวม สำหรับคนท้อง ซึ่งจะมีวิตามินอยู่หลายประเภท รวมถึงมี Folic อยู่ในนั้น
  • Vitamin D ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก
  • Coenzyme Q10 และ Astaxanthin ช่วยเรื่องคุณภาพของไข่
  • Antioxidant พวก Vitamin C และ Vitamin E
  • DHEA ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะใช้เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ ก่อนที่จะเริ่มกระตุ้นไข่ โดยจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะคนไข้บางคนใช้ DHEA แล้วได้ผล เห็นไข่เยอะขึ้น แต่บางคนอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม จึงจำเป็นจะต้องเลือกจ่ายยาเฉพาะคนไข้ที่ AMH ต่ำมากๆ หรือคนไข้ที่อายุค่อนข้างเยอะ รวมถึงควรให้โดสที่ 50-75 mg ต่อวัน หรือสูงสุดไม่เกิน 100 mg ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนเพื่อป้องกันการเกิดตับอักเสบจากยา หรือในกรณีที่มีจำนวนไข่น้อยมาก อาจจะได้รับฮอร์โมนเพศชายแบบทา แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง

สรุปก็คือการตรวจหาค่า AMH อาจไม่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก หรือคนไข้ที่อายุค่อนข้างเยอะ และอยากวางแผนในการมีลูก รวมถึงสาวๆ ที่ยังไม่ได้วางแผนเรื่องการแต่งงาน มีลูก แต่กังวลว่าในอนาคตถ้าแต่งงานไปแล้วจะมีปัญหาเรื่องมีลูกยากหรือไม่ ซึ่ง AMH จะเป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องวางแผนชีวิตอย่างไร จำเป็นจะต้องแช่แข็งไข่ไว้ก่อนหรือไม่ หรือเป็นการเตรียมตัวก่อนที่จะเข้ากระบวนการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองควรตรวจ AMH หรือไม่ สามารถเข้ามาปรึกษากับคุณหมอที่ Superior A.R.T. ได้ทุกวันเลยนะคะ 🙂

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.50 ❝ มีบุตรยาก..ทำอย่างไรให้ท้อง ❞

หากสงสัยว่ามีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ หรือด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว และ IUI เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น

Happy Chinese New Year เตรียมพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่ของ #เด็กปีงูเล็ก

อยากได้เบบี๋ปีงูเล็ก ควรเตรียมตั้งครรภ์ภายในเดือนเมษายน ลักษณะนิสัยของเด็กปีงูเล็ก จะมีความจำเป็นเลิศ มีอารมณ์ขัน ไหวพริบดี ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จิตใจเด็ดเดี่ยว ขยัน อดทน และชอบช่วยเหลือผู้อื่น

Embryo Glue และ MSS เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

Embryo Glue เป็นน้ำยาที่ใช้ในการย้ายตัวอ่อน ส่วน MSS (Microfluidic Sperm Sorting) คือการเทคนิคการคัดกรองสเปิร์มแบบใหม่แล้ว 2 อย่างนี้ สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร