ข่าวสารและบทความ

เด็กหลอดแก้ว คืออะไร รวมข้อมูลการทำ IVF (In Vitro Fertilization)

การทำเด็กหลอดแก้ว คือการทำ IVF (In Vitro Fertilization) หรือการทำกิ๊ฟท์ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพสูง และอัตราการตั้งครรภ์สูงที่สุดจากทุกวิธีในปัจจุบัน การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จึงกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับคู่สมรสที่อยากเป็นว่าที่คุณพ่อคุณแม่ แต่กำลังเผชิญปัญหาภาวะมีบุตรยาก แต่การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จะมีรายละเอียดสำคัญใดบ้างที่ (ว่าที่) คุณพ่อคุณแม่ควรรู้? วันนี้ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. มีคำตอบ


1. การทำเด็กหลอดแก้ว IVF คืออะไร?

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ที่มักเรียกกันโดยย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า IVF (In-vitro Fertilization) คือวิธีการที่ช่วยให้คู่ที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ สามารถมีบุตรได้ ด้วยเทคโนโลยีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย วิธีนี้แพทย์จะนำไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกันให้การเกิดการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ เมื่อไข่กับอสุจิผสมกันจนกลายเป็น “ตัวอ่อน” ในระยะที่เหมาะสมแล้ว ก็จะย้ายตัวอ่อนดังกล่าวกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

2. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ใช้ในกรณีใดบ้าง?

ปัจจัยที่มักส่งผลให้คู่สมรสเผชิญภาวะมีบุตรยากและต้องหันมาพึ่งกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เช่น

  • ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ chocolate cyst
  • ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย
  • มีการตกไข่ผิดปกติ เนื่องจากภาวะหรือโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติไป
  • ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ ได้แก่ จำนวนน้อย, รูปร่างผิดปกติ, เคลื่อนที่ไม่ดี เป็นต้น

3. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI มีขั้นตอนอย่างไร?

3.1 ปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่: สามารถปรึกษาได้ในทุกช่วงของประจำเดือน

ใช้เวลานานแค่ไหน: 45 – 60 นาที

ในขั้นตอนนี้ คุณจะได้รับการซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด การตรวจอัลตราซาวน์มดลูกและรังไข่, ตรวจการทำงานของฮอร์โมน, และการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เข้าใจสภาพร่างกายโดยรวมของคุณ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด

3.2 การกระตุ้นไข่

เมื่อไหร่: วันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน

ใช้เวลานานแค่ไหน: 10 – 12 วัน

เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ขั้นตอนแรกคือการกระตุ้นไข่ในรังไข่ให้โตโดยการฉีดยาฮอร์โมน โดยเริ่มฉีดวันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของรอบเดือนของคุณ จนฟองไข่โตได้ขนาด ใช้เวลาประมาณ 9-12 วัน

ในรังไข่จะมีฟองไข่อยู่มากมาย ในฟองไข่จะประกอบด้วยเซลล์ไข่ หรือ oocyte ในแต่ละรอบเดือน ฟองไข่และเซลล์ไข่จำนวนหนึ่งจะเติบโตกลายเป็นไข่ที่โตเต็มวัย ดังนั้น เป้าหมายของการกระตุ้นไข่ คือการกระตุ้นให้ไข่ที่เตรียมโตในรอบเดือนนั้นๆ โตขึ้นให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มีในแต่ละรอบด้วยยา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้ไข่โตเต็มวัยที่มีคุณภาพสูง

ระหว่างนี้ คุณต้องมาพบแพทย์ที่คลินิกทุกๆ 3-4 วัน ในช่วงเวลา 10 ถึง 12 วัน เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ ดูว่ารังไข่ตอบสนองต่อยากระตุ้นไข่อย่างไร เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นการตกไข่ (trigger shot) ที่เป็นฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) หรือ leuprolide acetate (Lupron) เพื่อช่วยให้ไข่สุกและหลุดออกจากผนังของฟองไข่ พร้อมสำหรับการเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป

3.3 การเก็บไข่และการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ

เมื่อไหร่: 36 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง

หลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก 36 ชั่วโมง จะเริ่มกระบวนการเก็บไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์นำเพื่อให้เห็นฟองไข่ชัดเจน และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอด เข้าไปในฟองไข่และดูดเก็บไข่ออกมา ตลอดกระบวนการ แพทย์จะให้ยาสลบ คุณจึงแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 15-20 นาที

ในวันเดียวกับวันเก็บไข่ คู่สมรสของคุณก็มาเก็บน้ำเชื้อ โดยปกติแล้วแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิในวันเดียวกับวันเก็บไข่ที่คลินิก แต่ถ้าหากฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถมาเก็บอสุจิก่อน แล้วแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ล่วงหน้า และละลายมาใช้ในวันเก็บไข่

วิธีการเก็บน้ำเชื้ออสุจิที่ดีที่สุดคือการช่วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้น้ำเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวอื่นๆ ของฝ่ายหญิง (เช่น น้ำลาย น้ำหล่อลื่นช่องคลอด) ซึ่งอาจมีแบคทีเรียปะปนอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิสนธิ (fertilization) หรือการเพาะเลี้ยงได้ และหลังจากที่ฝ่ายชายเก็บน้ำอสุจิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งน้ำเชื้อให้ผู้นักวิทยาศาสตร์ที่รออยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมน้ำอสุจิต่อไป

นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจิ มาพักไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้น้ำอสุจิละลายตัวให้เหลวก่อน จากนั้นจะทำการปั่นล้างเพื่อเอาอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหวและเศษเซลล์ต่างในน้ำอสุจิออก และทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าจะทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หรือ ICSI โดยแพทย์จะเลือกการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หากผลน้ำอสุจิเป็นปกติ แต่หากผลอสุจิมีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิได้มากขึ้น

สำหรับการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF อสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง ส่วนวิธี ICSI นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่ที่โตเต็มวัยโดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ วิธี ICSI นี้ใช้เวลานานกว่าวิธี IVF และต้องทำโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ

ไข่ที่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้วจะถูกเรียกว่า ‘ตัวอ่อน’

3.4 การเลี้ยงตัวอ่อน

เมื่อไหร่: หลังจากปฏิสนธิด้วยวิธี IVF หรือ ICSI

ใช้เวลานานแค่ไหน: 5-6 วัน

หลังจากที่ไข่และอสุจิปฏิสนธิจนกลายเป็น ‘ตัวอ่อน’ แล้ว ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 5 – 6 วัน จนพัฒนาและเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ พร้อมที่จะย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก สำหรับตัวอ่อนที่ไม่สามารถเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์นั้นโดยทั่วไปถือว่าเป็นตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรง โอกาสฝังตัวในมดลูกน้อย จึงไม่ควรนำมาย้ายกลับไปสู่โพรงมดลูก กระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนมาก ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่ชำนาญการใช้งานอุปกรณ์เทคนิคขั้นสูงและวิธีการจัดการสภาพแวดล้อมภายในห้องปฏิบัติการให้เหมาะแก่การเติบโตของตัวอ่อน

ที่ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ใช้ตู้เลี้ยงตัวอ่อน GERI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ภายในเครื่องติดตั้งระบบกล้องถ่ายภาพจุลทรรศน์คุณภาพสูง หนึ่งตัวต่อหนึ่งจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ช่วยให้สามารถติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนได้โดยละเอียด โดยไม่ต้องขยับจานเพาะเลี้ยงหรือตัวอ่อนเลย แต่ละจานเพาะเลี้ยงเป็นอิสระแยกขาดจากกัน ทำให้สามารถควบคุมและปรับสภาวะแวดล้อมของการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมกับตัวอ่อนแต่ละตัว การใช้ตู้เลี้ยงระบบแยกเลี้ยงนี้ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์เนื่องจากตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่คงที่ไม่ถูกรบกวน  

สำหรับข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของเรา คลิกที่นี่

3.5 การย้ายตัวอ่อน

เมื่อไหร่: หลังกระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

ใช้เวลานานแค่ไหน: 2 ชั่วโมง

ในขั้นตอนสุดท้าย แพทย์จะเลือกตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ผ่านกระบวนการที่ง่ายและไม่เจ็บปวด โดยตัวอ่อนถูกดูดไว้ในสายย้ายตัวอ่อน และใช้อัลตราซาวด์ช่วยนำทางให้เห็นปลายสาย ที่สอดผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก หลังจากนั้นจะฉีดตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูกให้เริ่มเจริญเติบโต

ประมาณ 7-10 วันหลังจากการย้ายตัวอ่อน จะทดสอบการตั้งครรภ์ และประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็สามารถมาตรวจอัลตราซาวด์  เพื่อดูถุงการตั้งครรภ์ ยืนยันการตั้งครรภ์

3.6 การแช่แข็งตัวอ่อน

เมื่อไหร่: หลังจากกระบวนการย้ายตัวอ่อน

ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง

สำหรับตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ทำการย้ายตัวอ่อน สามารถแช่แข็ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ด้วยวิธีการแช่แข็งตัวอ่อนแบบผลึกแก้ว (Vitrification) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลดอุณหภูมิขณะแช่แข็งตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งในเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายของตัวอ่อน วิธีการนี้ช่วยให้ตัวอ่อนถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง หากเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูง และควบคุมคุณภาพและติดตามปริมาณไนโตรเจนเหลว ตลอดจนตรวจเช็คความสมบูรณ์ของอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ

หากคุณต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็สามารถนำตัวอ่อนแช่แข็งเหล่านี้กลับมาใช้ได้

4. แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับจำนวนมากน้อยเพียงใด?

แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงและคุณภาพตัวอ่อน  หากเป็นตัวอ่อนที่ได้รับการตรวจโครโมโซมและผลปกติ แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับทีละหนึ่งตัว เนื่องจากตัวอ่อนที่คุณภาพดี และมีโครโมโซมที่ปกติ มีโอกาสตั้งครรภ์สูงอยู่แล้ว

5. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)  ปลอดภัย/มีความเสี่ยงแค่ไหน?

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มาก (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS), เลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่, มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด เป็นต้น การเลือกคลินิก IVF ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย ตามจำนวนไข่ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด

6. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)  มีอัตราความสำเร็จเท่าไหร่?

อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว อยู่ที่ประมาณ 40 – 60% ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ, สาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก, ตลอดจนลักษณะการดำเนินชีวิต คุณภาพไข่และอสุจิ ฝ่ายหญิงที่ยังอายุน้อยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ก็มีหลายเคสของผู้เข้ารับการรักษาที่มีอายุมากและประสบความสำเร็จเช่นกัน การปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้

7. บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับกับ เด็กหลอดแก้ว และ IVF

  1. การทำ ICSI (อิ๊กซี่) คืออะไร? แตกต่างอย่างไรกับ IVF?
  2. การทำเด็กหลอดแก้ว In Vitro Fertilization (IVF) และ Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI)
  3. การนำตัวอ่อนแช่แข็งฝังในโพรงมดลูก (Frozen Embryo Transfer: FET)

อ้างอิง:

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

ถามหมอ 💬 กับหมอนิ : เคยแท้งมาก่อน โอกาสมีลูกจะลดลงหรือไม่ ?

คุณหมอนิ พญ.นิศารัตน์ จะมาตอบข้อสงสัยให้ทุกท่านได้ทราบกัน สำหรับคุณแม่ที่เคยสูญเสียลูกน้อยจากการแท้งลูก อาจมีความกังวลใจว่าโอกาสในการมีลูกอีกครั้งจะยากขึ้นหรือไม่

จุดกำเนิดทารกน้อย ระยะ Blastocyst หนูกำลังจะเติบโตแล้วนะ

ทุกชีวิต ล้วนเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ
และนี่คือคลิปของตัวอ่อนระยะ Blastocyst  🧫
“จุดกำเนิดของทารกน้อย” ที่จะพัฒนาไปเป็นลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่

อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของสาวๆ แต่ละช่วงอายุ เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยี ART เข้ามาช่วย

รู้หรือไม่ว่า อัตราการตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI ของ Superior A.R.T. ร่วมกับการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน PGT สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้