ข่าวสารและบทความ

การทำ IUI ทำอย่างไร? ทำความเข้าใจกระบวนการ IUI ฉบับเข้าใจง่าย

ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก หรือ  IUI (Intrauterine Insemination)  หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยครอบคลุมเรื่อง การทำ IUI คืออะไร? กรณีไหนควรทำ IUI? ตลอดจนการทำ IUI มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด และมีกระบวนการอย่างไร? (อ่านบทความแรกเกี่ยวกับการทำ IUI ของเราได้ ที่นี่)

ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำ IUI กันอีกครั้ง แต่ในแบบเจาะลึกและละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อให้คุณได้เข้าใจและเตรียมความพร้อมก่อนมาพบคุณหมอ รายละเอียดในแต่ละขั้นตอนของการทำ IUI มีอะไรบ้าง มาเริ่มกันเลย

  1. ปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่: เมื่อคุณสะดวกในการทำนัดหมาย

ใช้เวลานานแค่ไหน: 30-45 นาที

ขั้นตอนแรก ก่อนเริ่มกระบวนการใดๆ คือการนัดปรึกษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และภาวะการมีบุตรยาก ที่คลินิกที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ โดยในขั้นตอนนี้ คุณหมอจะถามประวัติ และตรวจร่างกายเพิ่มเติม ตามสาเหตุภาวะมีบุตรยากของคุณ เช่น การตรวจมดลูกและท่อนำไข่, การตรวจค่าฮอร์โมน, และการทดสอบอื่นๆ ที่จำเป็น ส่วนฝ่ายชายเข้ารับการตรวจและวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ  คุณหมอจะตรวจสอบและประเมินสภาพร่างกายโดยรวม เพื่อประเมินว่า IUI เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณหรือไม่ ซึ่ง IUI อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากระดับรุนแรง 

ในการนัดพบแรกนี้ยังถือเป็นโอกาสที่คุณจะได้สอบถามและปรึกษาเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับการทำ IUI, กระบวนการโดยรวม, ค่าใช้จ่าย และข้อมูลอื่นที่คุณอยากรู้ และคุณสามารถประเมินดูว่าคุณรู้สึกสบายใจและพึงพอใจกับแพทย์, คลินิก และกระบวนการทางเลือกต่างๆ มากน้อยแค่ไหน คลินิกเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ที่น่าเชื่อถือ และแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ จะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจได้ว่า  ไม่ว่าคุณจะพบปัญหาใดระหว่างกระบวนการ แพทย์จะคอยช่วยให้คำแนะนำและแก้ปัญหาให้เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ 

  1. การกระตุ้นรังไข่ 

เมื่อไหร่: วันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน

ใช้เวลานานแค่ไหน: 10 – 12 วัน

เมื่อเริ่มกระบวนการ IUI แพทย์จะประเมินว่าคุณควรจะได้รับยาเพื่อใช้กระตุ้นรังไข่ หรือสามารถผลิตไข่ได้เองตามธรรมชาติ กระบวนการกระตุ้นไข่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในรอบการรักษานั้นจะมีไข่โต โดยในทั้งสองกรณี  แพทย์จะช่วยประเมิน คอยติดตามและกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในขั้นตอนการทำ IUI ให้กับคุณ

ในส่วนของยากระตุ้น สามารถใช้ได้ทั้งแบบฉีดหรือแบบรับประทาน หรือทั้งสองแบบร่วมกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณ โดยในระหว่างนี้ และนัดตรวจอัลตราซาวน์เพื่อติดตามการตอบสนองของรังไข่ ในช่วงเวลาก่อนไข่ตก โดยอาจมีการปรับยาหากจำเป็น และกำหนดช่วงเวลาการทำ IUI โดยคุณและคู่สมรสของคุณ อาจถูกขอให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือการหลั่งอสุจิเป็นเวลา 2-3 วันก่อนกระบวนการ IUI

และเมื่อฟองไข่มีขนาดอย่างน้อย 18-20 มม. และเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาอย่างน้อย 7 มม. แล้ว แพทย์จะฉีดยาให้ไข่ตก เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายของฝ่ายหญิงตกไข่ และจะทำนัดเพื่อเริ่มกระบวนการ IUI หลังจากฉีดยาราว 36 ชั่วโมง 

  1. กระบวนการ IUI

เมื่อไหร่: 36 – 42 ชั่วโมงหลังฉีดยาให้ไข่ตก

ใช้เวลานานแค่ไหน: 15-20 นาที

หลังจากการฉีดยาให้ไข่ตก 36 – 42 ชั่วโมง คุณและสามี จะเริ่มกระบวนการทำ IUI ในขั้นตอนนี้ ฝ่ายชายเก็บน้ำอสุจิ โดยการช่วยตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ตัวอย่างน้ำอสุจิที่เก็บได้ จะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการทันที  และหลังจากที่พักไว้เพื่อให้น้ำอสุจิละลายตัวให้เหลว ประมาณ 30 นาทีแล้ว ก็จะถูกนำไปล้างเพื่อขจัดเศษสเปิร์มที่ไม่เคลื่อนที่ และสารอื่นๆ ในน้ำอสุจิที่ทำให้มดลูกระคายเคืองหรือทำให้ไข่ตายได้ เหลือ อสุจิที่มีสุขภาพดีที่มีความเข้มข้นสูงซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ 

หลังจากเตรียมอสุจิแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการทำ IUI โดยแพทย์จะเริ่มจากการใช้เครื่องมือเปิดช่องคลอด  เพื่อให้มองเห็นปากมดลูก และค่อยๆ สอดสายสวนขนาดเล็กและฉีดอสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง เพื่อช่วยให้อสุจิสามารถว่ายเข้าไปในท่อนำไข่และปฏิสนธิกับไข่ได้อย่างสะดวก กระบวนการทั้งหมดแทบไม่มีความเจ็บปวด ไม่ต้องใช้ยาสลบ และใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีก็เสร็จสิ้น โดยแพทย์จะขอให้คุณนอนพักประมาณ 30 นาทีก่อน จึงเดินทางกลับบ้านได้

  1. ทดสอบการตั้งครรภ์

เมื่อไหร่: 14 วันหลังกระบวนการ IUI

ใช้เวลานานแค่ไหน: 2-3 นาที

ประมาณ 14 วันหลังจากทำ IUI คุณสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ที่บ้านหรือที่คลินิก หากไม่ประสบความสำเร็จในการทำ IUI ในครั้งแรก ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง คุณสามารถทำ IUI ซ้ำได้ 3-4 รอบ หรือในบางกรณีอาจถึง 6 รอบ ขึ้นอยู่กับอายุของคุณ หากผ่านไป 4-6 รอบแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์อาจแนะนำให้คุณพิจารณาทางเลือกในการรักษาอื่นๆ เช่น IVF หรือ ICSI  โดยหลังจากกระบวนการ IUI คุณสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติรวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนของเรา คลิกที่นี่

References

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

ตรวจอัลตราซาวด์เจอไข่หลายฟอง แต่พอเก็บจริงทำไมถึงได้น้อย?

ตรวจอัลตราซาวด์เจอไข่หลายฟอง แต่พอเก็บจริงทำไมถึงได้น้อย อีกหนึ่งปัญหาชวนปวดหัวของคนอยากมีลูก หาคำตอบกับคลินิคซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.

Exclusive! พาไปดูขั้นตอนหลังจากการเก็บไข่ เก็บแล้วเอาไปไหนนะ! 

เปิดห้องแล็บ Superior A.R.T. พาทัวร์ ดูการเดินทางของการเก็บไข่ แช่แข็งไข่ อีกหนึ่งขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI

พาชมบ้านหลังแรกของตัวอ่อน ด้วยตู้เลี้ยงตัวอ่อน Geri®

พาไปรู้จักกับบ้านหลังแรกของหนูๆ คือตู้เลี้ยงตัวอ่อน Geri® ว่าทำไมถึงมีความสำคัญที่ช่วยให้ได้ตัวอ่อนคุณภาพดี