ข่าวสารและบทความ

IUI ทางเลือกการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ได้ผลดี เจ็บตัวน้อย ราคาย่อมเยา

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ปัจจุบันจึงมีวิธีและเทคนิคการรักษาภาวะการมีบุตรยากที่ได้ผลดีและหลากหลายมากขึ้น หนึ่งในเทคนิคที่นิยมมากก็คือ IUI (Intrauterine Insemination) หรือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ช่วยให้หลายครอบครัวสามารถเอาชนะภาวะมีบุตรยากสำเร็จมาแล้วมากมายในราคาย่อมเยา

 IUI คืออะไรกันแน่? มีขั้นตอนอย่างไร? คู่ไหนบ้างที่ควรใช้วิธี IUI? วันนี้ Superior A.R.T. มีคำตอบ

อะไรคือ IUI?

IUI หรือ Intrauterine Insemination คือ เทคนิคการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ช่วยให้สเปิร์มว่ายไปถึงเซลล์ไข่และเกิดการปฏิสนธิได้ง่ายกว่าเดิม ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ง่ายและมีขั้นตอนน้อยกว่าเทคนิคการรักษาภาวะมีบุตรยากอื่นๆ เช่น IVF หรือ ICSI กระบวนการ IUI จึงมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และมักแนะนำให้เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากลำดับแรก ก่อนที่จะเลือกใช้เทคนิคการรักษาขั้นสูงอื่นๆ

กรณีใดบ้างที่ควรใช้ IUI

เทคนิค IUI มักนิยมใช้ในกรณีดังนี้

  • ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เล็กน้อย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือมีความผิดปกติของมูกช่องคลอดหรือบริเวณปากมดลูก
  • มีจำนวนอสุจิน้อยกว่าเกณฑ์เล็กน้อย
  • ภาวะอสุจิเคลื่อนไหวช้า
  • ปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิหรือมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย

เทคนิค IUI ไม่ควรใช้ ในกรณีดังนี้

  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • ท่อนำไข่ทั้งสองข้างถูกตัดออกหรือตัน
  • สงสัยท่อนำไข่มีความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่บวม หรือตัน
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบและติดเชื้อ
  • ปริมาณอสุจิน้อยมาก

เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้ว แพทย์จะช่วยประเมินรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยในบางกรณี การใช้แค่เทคนิค IUI ก็เพียงพอและประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละบุคคลด้วย แต่ในบางกรณีก็อาจต้องใช้เทคนิคการรักษาอื่นๆ เช่น IVF หรือ ICSI

IUI มีกระบวนการอย่างไร?

ในขั้นตอนแรก แพทย์จะให้รับประทานยาเม็ด หรือฉีดยา(ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาทาน) เพื่อกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงให้โตขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจอัลตราซาวด์และ/หรือตรวจเลือดในช่วงก่อนไข่ตก หากฟองไข่มีขนาด 18-20 มิลลิเมตรขึ้นไป และเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเหมาะสม แพทย์จะฉีดยาให้ไข่ตก

         หลังการฉีดยากระตุ้นการตกไข่ 36 – 42 ชั่วโมง แพทย์จะนัดทำ IUI โดยฝ่ายชายเก็บอสุจิและนำไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อปั่นล้างและนำเอาอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหว รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่อาจก่อความระคายเคืองต่อมดลูกออก หลังปั่นล้าง น้ำอสุจิที่ได้จะมีความเข้มข้นของอสุจิมากขึ้น เมื่อเตรียมอสุจิเสร็จ แพทย์จะฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) ด้วยสอดสายสวนขนาดเล็กที่อ่อนนุ่ม ทำให้แทบไม่ปวดเลย เมื่อสอดสายเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว แพทย์จะฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกด้านบน เพื่อให้อสุจิวิ่งเข้าไปเจอกับไข่ ใช้เวลา IUI เพียงแค่ 5-10 นาที หลังจากเสร็จกระบวนการ Iแล้ว ฝ่ายหญิงจะนอนพักราว 30 นาที ก่อนเดินทางกลับบ้าน

หลังจากผ่านกระบวนการ IUI ประมาณ 14 วัน ก็สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองที่บ้านหรือที่คลินิก หากตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่อไป

IUI มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

ผู้เข้ารับการรักษา IUI อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรงดังนี้

  • การติดเชื้อ (Infection): ผู้เข้ารับการรักษามีโอกาสติดเชื้อ แต่กรณีดังกล่าวแทบไม่เกิดขึ้น เพราะเครื่องมือทุกชิ้นและห้องปฏิบัติการ ถูกทำให้ปลอดเชื้อ
  • ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกินขนาด (Ovarian Hyperstimulation Syndrome, OHSS): หรือภาวะที่รังไข่บวมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เข้ารับการรักษาได้รับยากระตุ้น ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะท้องอืด, กดที่บริเวณท้องแล้วเจ็บ, คลื่นไส้อาเจียน และอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหากมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่รุนแรง อย่างไรก็ดีคลินิกที่ได้มาตรฐาน จะมีการตรวจติดตามการทำงานของรังไข่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ภาวะ OHSS จึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • การตั้งครรภ์แฝด (Multiple Pregnancies): การใช้ยากระตุ้นไข่ อาจส่งผลให้ไข่โตมากกว่า 1 ฟอง และมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์มากกว่า 1 คนได้

การเลือกคลินิก IUI อย่างละเอียดรอบคอบจึงนับว่ามีความสำคัญ คลินิก IUI ที่ดีควรมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมและทันสมัย มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีทีมผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับ และมีประวัติความสำเร็จในหลากหลายเคสที่ผ่านมา

IUI มีอัตราความสำเร็จเท่าไหร่?

อัตราการตั้งครรภ์จาก IUI อยู่ที่ราว 10 – 15% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุฝ่ายหญิง สาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก และคุณภาพของอสุจิ อัตราการตั้งครรภ์สำหรับ IUI มีแนวโน้มลดลงอย่างมากในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์อัตราความสำเร็จของ IUI ได้แม่นยำยิ่งขึ้นและช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า IUI เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับคุณหรือเปล่า

สามารถทำ IUI ได้กี่ครั้งจนกว่าจะเห็นผล?

การทำ IUI ติดต่อกันหลายรอบสามารถช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ แต่โดยทั่วไป เมื่อทำถึงรอบที่ 6 อัตราความสำเร็จก็จะเริ่มคงที่และไม่เพิ่มขึ้น  ปกติแพทย์จะแนะนำให้ทำ 3-6 ครั้ง อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้รับการรักษา และสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังทำ IUI?

หลังทำ IUI ฝ่ายหญิงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนติดเตียงตลอดเวลาและสามารถทำกิจกรรมและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้แพทย์อาจไม่แนะนำให้แช่น้ำในอ่างหรือว่ายน้ำ 2-3 วันเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยขั้นตอนสุดท้ายของการทำ IUI ก็คือการตรวจสอบการตั้งครรภ์

การทำ IUI มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?

ราคาของ IUI ของแต่ละคลินิกอาจมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้ถือว่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการรักษาชั้นสูงอื่นๆ เช่น IVF หรือ ICSI

เกี่ยวกับ ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.

ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2550 โดยการร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และเด็กหลอดแก้วในประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. เป็นคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่เพียบพร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ชำนาญเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproduction Technology – A.R.T.)  พวกเรามีความมุ่งมั่นจะสานทุกความฝันในการมีบุตรของทุกครอบครัวให้สมบูรณ์

อ้างอิง

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

ตรวจอัลตราซาวด์เจอไข่หลายฟอง แต่พอเก็บจริงทำไมถึงได้น้อย?

ตรวจอัลตราซาวด์เจอไข่หลายฟอง แต่พอเก็บจริงทำไมถึงได้น้อย อีกหนึ่งปัญหาชวนปวดหัวของคนอยากมีลูก หาคำตอบกับคลินิคซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.

ความลับ Vitamin D ช่วยให้ไข่และสเปิร์มมีคุณภาพ?

วิตามินดี นับว่าเป็นวิตามินที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก แต่เอ๊ะ! ทุกคนรู้กันรึเปล่านะ ว่าวิตามินดีส่งผลดีต่อคุณภาพไข่และสเปิร์มอีกด้วย

การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้อย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง

NGS เป็นการตรวจคัดกรองตัวอ่อนในระดับโครโมโซมก่อนย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงของความผิดปกติทางพันธุกรรม มีขั้นตอนการตรวจอะไรบ้าง