ข่าวสารและบทความ

การเลือกเพศลูกเพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านทางโครโมโซมเพศ (Sex-Linked Disorders)

การเลือกเพศลูก (sex selection) หรือการเลือกเพศกำเนิดของลูก คือกระบวนการที่แพทย์และคนไข้ สามารถใช้กระบวนการ IVF และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technologies : ART) ที่เกี่ยวข้อง ในการเลือกเพศของตัวอ่อนที่ย้ายกลับโพรงมดลูก อย่างถูกต้องตามกฎหมายและทางจริยธรรม เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์

สาเหตุทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องเลือกเพศลูกที่พบบ่อยที่สุด คือการป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมที่อยู่บนโครโมโซมเพศ (sex-linked disorders) ของพ่อและแม่ไปสู่ลูก โรคพันธุกรรมในกลุ่มนี้ เกิดจากความผิดปกติของยีน (หรือ หน่วยพันธุกรรม) ที่อยู่บนโครโมโซมเพศ (X หรือ Y)

บนโครโมโซม X จะมีจำนวนยีนอยู่มากมายหลายร้อยตัว ส่วนโครโมโซม Y มีขนาดเล็กกว่าโครโมโซม X จึงมีจำนวนยีนน้อยกว่า

โรคพันธุกรรมจากความผิดปกติของยีนบนโครโมโซม Y เช่น ภาวะขนดกที่บริเวณหู (Hypertrichosis of the ears), โรคนิ้วเท้าติดกันแต่กำเนิด (Webbed Toes) หรือโรคผิวหนังเป็นเกล็ดคล้ายงู (Porcupine Man) สามารถถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูกชายเท่านั้น เนื่องจากมีเพียงเด็กผู้ชายที่จะได้รับโครโมโซม Y จากพ่อ ส่วนเด็กผู้หญิงจะได้รับโครโมโซม X จากพ่อ ดังนั้นการเลือกเพศลูกหรือเพศของตัวอ่อน เป็นเพศหญิง จึงเป็นวิธีที่หลีกเลี่ยงการส่งต่อโรคทางพันธุกรรมบนโครโมโซม Y ที่ผิดปกติจากพ่อสู่ลูก

ส่วนการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากความผิดปกติของยีนบนโครโมโซม X นั้น มีความซับซ้อนกว่ามาก สามารถถ่ายทอดได้ทั้งในลักษณะของยีนเด่น (dominant) และยีนด้อย (recessive) ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและเพศของเด็ก

               หากความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้น อยู่บนโครโมโซม X จากพ่อ ลูกชายจะไม่ได้รับการสืบทอดความผิดปกติ เพราะลูกชายจะได้รับโครโมโซม Y จากพ่อ ส่วนลูกสาวจะเป็นพาหะ (carriers) ดังนั้นในกรณีที่พ่อเป็นพาหะของโรค ไม่ว่าความผิดปกตินั้นจะอยู่บนโครโมโซม X หรือ Y การเลือกเพศจึงเป็นการป้องกันการส่งต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าวไปสู่รุ่นลูกหลาน (โดยเลือกตัวอ่อนให้เป็นเพศชายหากความผิดปกติอยู่บนโครโมโซม X ของพ่อ และเลือกตัวอ่อนให้เป็นเพศหญิงหากความผิดปกติอยู่บนโครโมโซม Y ของพ่อ)

กรณีที่ความผิดปกติอยู่บนโครโมโซม X หนึ่งแท่ง ของแม่ และการถ่ายทอดเป็นลักษณะด้อย (Recessive) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ

  1. 50% ของบุตรชายจะเป็นโรค และอีก 50% ปกติ
  2. 50% ของบุตรสาวจะปกติ และอีก 50% เป็นพาหะ
  • หากเป็นการถ่ายทอดแบบลักษณะเด่น (dominant) ทั้งบุตรชายและบุตรสาว 50% จะเป็นโรค และอีก 50% ปกติ

ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านมาเรียนรู้เกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซม X (X-linked) ที่พบบ่อย และวิธีป้องลูกของคุณจากโรคทางพันธุกรรม X-linked นี้

5 โรคทางพันธุกรรม X-Linked ที่พบบ่อยที่สุด

1. กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ (Fragile-X Syndrome)

กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ หรือ Fragile X syndrome (FXS) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ของภาวะความบกพร่องทางด้านสติปัญญาและพัฒนาการจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการในหลายด้าน เช่น การเรียนรู้ต่างๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากนี้ ยังมีปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น อาการอยู่ไม่นิ่ง, สะบัดมือไปมา, กัดมือ, มีอารมณ์ฉุนเฉียว และออทิสซึม

ความผิดปกตินี้ถ่ายทอดสู่ลูกในรูปแบบยีนเด่น หรือ X-linked dominant สามารถส่งผลกระทบทั้งลูกสาวและลูกชาย แต่ลูกชายจะมีอาการรุนแรงกว่าลูกสาว เนื่องจากผู้หญิงมีโครโมโซม X สองแท่ง ซึ่งโครโมโซม X แท่งที่ปกติยังสามารถชดเชยโครโมโซม X อีกแท่งหนึ่งที่ผิดปกติได้ (XX) ส่วนลูกชายมีโครโมโซม X เพียงแค่แท่งเดียว (XY) จึงมักแสดงอาการรุนแรงมากกว่า

2. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดดูเชน (Duchenne Muscular Dystrophy)

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชน หรือ Duchenne Muscular Dystrophy (DMD) เป็นภาวะความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่พบได้น้อย แต่เป็นหนึ่งในโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยและรุนแรงที่สุดในเด็ก โรคกล้ามเนื้อลีบดูเชนเกิดจากความผิดปกติของยีน DMD บนโครโมโซม X การกลายพันธุ์นี้ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิต “dystrophin” ซึ่งเป็นโปรตีนที่กล้ามเนื้อต้องการเพื่อให้ทำงานเป็นปกติ หากไม่มีโปรตีน dystrophin เซลล์กล้ามเนื้อจะได้รับความเสียหาย จะมีอาการอ่อนแรง และค่อยๆ ลีบไปเรื่อย ๆ โรค DMD ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหลายระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กระดูก, หัวใจ, หรือปอด และรุนแรงถึงขั้นทำให้หายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ภาวะนี้ถ่ายทอดแบบยีนด้อยบนโครโมโซม X (X-linked recessive) โดยทั่วไปแล้วจะส่งผลกับเพศชายเท่านั้น ส่วนเพศหญิงจะเป็นเพียง “พาหะ” โอกาสที่เพศหญิงจะเกิดโรคนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก

3. โรคฮีโมฟีเลีย โรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)

โรคเลือดไหลไม่หยุด หรือ Hemophilia คือภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เลือดไม่อาจจับตัวเป็นลิ่มตามปกติ เมื่อมีบาดแผล เลือดจะหยุดไหลยากหรือใช้เวลานานกว่าปกติกว่าจะหยุดไหล ภาวะเลือดออกนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ในข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือเกิดขึ้นภายนอก จากการบาดเจ็บ บาดแผลเล็กน้อย การทำฟัน จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) พบว่า “โรค Hemophilia พบได้  1 ในทุกๆ 5,000 ของเด็กชายที่เกิดมา” และ “อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดไหล หรือหากเกิดเลือดออกขึ้นที่อวัยวะสำคัญ เช่น สมอง”

เช่นเดียวกับโรค DMD ภาวะ Hemophilia ก็ถ่ายทอดในรูปแบบ X-linked recessive โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการในเพศชายเท่านั้น ส่วนเพศหญิงจะเป็นเพียง “พาหะ”

4. โรคตาบอดสี ชนิดสีแดง-เขียว (Red-Green Color Blindness)

โรคตาบอดสีแดง-เขียว หรือ Deuteranopia เป็นภาวะตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่ตาบอดสีแดง-เขียวจะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงกับสีเขียว และยังอาจมีผลกระทบกับความสามารถในการมองเห็นสีอื่นด้วย

เช่นเดียวกับ DMD และ Hemophilia โรคตาบอดสีแดง-เขียวถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบ X-linked recessive โดยทั่วไปแล้วจะมีผลกับเพศชายเท่านั้น ในขณะที่เพศหญิงจะเป็นเพียง “พาหะ”

5. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด Agammaglobulinemia  (X-Linked Agammaglobulinemia)

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด Agammaglobulinemia หรือ X-Linked Agammaglobulinemia (XLA) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วย XLA จะมีจำนวน B Cells น้อยผิดปกติ ซึ่ง B Cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ ผู้ที่เป็นโรค XLA จะติดเชื้อต่างๆ ง่าย ใช้เวลาในการรักษานานกว่าปกติ และมักกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกแม้กำลังรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอยู่ก็ตาม เพราะร่างกายของพวกเขาสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีได้น้อยมาก การติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะ XLA ได้แก่ การติดเชื้อที่ปอด (ปอดบวมและหลอดลมอักเสบ), การติดเชื้อที่หู (โรคหูน้ำหนวก), โรคตาแดง (เยื่อบุตาอักเสบ), การติดเชื้อในโพรงจมูก (ไซนัสอักเสบ) และท้องร่วงเรื้อรัง ซึ่งการติดเชื้อซ้ำๆ นั้น สามารถสร้างความเสียหายถาวรต่ออวัยวะได้

ภาวะความผิดปกตินี้ เป็นรูปแบบการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยโครโมโซมX (X-linked recessive pattern) เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วจะมีผลกับลูกชายเท่านั้น ในขณะที่ลูกสาวจะเป็นเพียง “พาหะ”

แนวทางการรักษา: การใช้ IVF, PGT-M, PGT-A ในกระบวนการเลือกเพศลูก

ความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซมเพศส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาได้ แต่แน่นอนว่าสามารถป้องกันได้

สำหรับความผิดปกติที่เกิดจากฝั่งคุณพ่อ เราสามารถใช้การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนย้ายกลับเข้ามดลูก Pre-implantation Genetic Testing for aneuploidy (PGT-A) เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ “euploid” (หรือ จำนวนโครโมโซมปกติ) และเพศที่ไม่มีอาการ ไม่ว่าการเป็นพาหะของพ่อจะเกิดอยู่บนโครโมโซม X หรือ Y เราก็สามารถป้องกันการถ่ายทอดความผิดปกติดังกล่าวได้ง่ายๆ (โดยเลือกตัวอ่อนเป็นเพศชายหากความผิดปกติอยู่บนโครโมโซม X ของพ่อ และเลือกตัวอ่อนเป็นเพศหญิงหากความผิดปกติอยู่บนโครโมโซม Y ของพ่อ)

ส่วนความผิดปกติที่เกิดจากฝั่งคุณแม่ หากภาวะความผิดปกติ X-linked ของฝ่ายหญิงที่เป็นพาหะ มีลักษณะที่เกิดจากยีนเด่น (dominant) การเลือกเพศตัวอ่อน จะไม่สามารถป้องกันโรคทางพันธุกรรมได้ แต่หากเป็นภาวะ X-linked ที่เกิดจากยีนด้อย (recessive) คุณสามารถเลือกย้ายตัวอ่อนในเพศที่จะช่วยเลี่ยงการส่งต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของคุณได้ แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้ IVF/ICSI ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยยีนที่ผิดปกติของตัวอ่อนก่อนย้ายกลับเข้ามดลูก Pre-implantation Genetic Testing for monogenetic disorders (PGT-M) เพื่อเลือกตัวอ่อนที่ไม่มียีนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นตัวอ่อนเพศหญิงหรือชายก็ตาม

PGT-M (ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ PGD) คือการวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน จากกระบวนการเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนกลับมดลูก ที่ Superior A.R.T. เราใช้เทคนิค Karyomapping ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับการตรวจ PGT-M สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ถูกต้องแม่นยำ มีความน่าเชื่อถือสูง และออกผลรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 1-3 สัปดาห์ แตกต่างจากเทคนิค PGT-M อื่นๆ ในอดีต ที่ต้องเสียเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ดี

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ PGT-M และลักษณะเฉพาะของ Karyomapping สามารถคลิกที่นี่

References

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

Happy Chinese New Year เตรียมพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่ของ #เด็กปีงูเล็ก

อยากได้เบบี๋ปีงูเล็ก ควรเตรียมตั้งครรภ์ภายในเดือนเมษายน ลักษณะนิสัยของเด็กปีงูเล็ก จะมีความจำเป็นเลิศ มีอารมณ์ขัน ไหวพริบดี ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จิตใจเด็ดเดี่ยว ขยัน อดทน และชอบช่วยเหลือผู้อื่น

Embryo Glue และ MSS เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

Embryo Glue เป็นน้ำยาที่ใช้ในการย้ายตัวอ่อน ส่วน MSS (Microfluidic Sperm Sorting) คือการเทคนิคการคัดกรองสเปิร์มแบบใหม่แล้ว 2 อย่างนี้ สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.47 ❝ ท้องแล้ว แต่มีเลือดออก ทำอย่างไรดี ต้องกังวลไหม ❞

หากกำลังตั้งท้องแล้วมีเลือดออก หรือมีภาวะแท้งคุกคามควรทำอย่างไร ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแท้ง และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแท้งในครั้งต่อไป