เพราะสุขภาพที่ดีของพ่อแม่ ส่งต่อความแข็งแรงของลูก ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนมีบุตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราลองมาดูกันค่ะว่า ควรจะตรวจสุขภาพในด้านใดบ้าง เพื่อช่วยให้ลูกน้อยของเราที่จะเกิดมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
1. การตรวจสุขภาพทั่วไป
การตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายคุณพ่อและคุณแม่ว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โรคเลือดจางทางพันธุกรรม (ธาลัสซีเมีย) เป็นต้น เพื่อวางแผนและป้องกัน รวมถึงแก้ไข ก่อนการมีบุตร
2. ตรวจประวัติการฉีดวัคซีนที่จำเป็น
การติดเชื้อบางอย่าง เช่น หัดเยอรมัน ในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกในท้องเกิดความพิการรุนแรงได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้
3. ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
หญิงตั้งครรภ์ อาจพบเหงือกอักเสบและฟันผุได้ง่ายกว่าคนปกติ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เหงือกอักเสบ และฟันผุ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นการตรวจฟันก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรรักษาฟันก่อนการตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
4. ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค อาจไม่แสดงอาการเด่นชัดในระยะแรก แต่ตรวจพบได้จากการตรวจเลือด เช่น ซิฟิลิส หนองใน HIV การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรจะช่วยลดความเสี่ยงและอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน รวมทั้งลดการส่งผ่านโรคจากแม่สู่ลูกน้อยได้ ซึ่งทารกในครรภ์ที่ได้รับโรคจากแม่นั้นอาจมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เด็กมีความพิการ ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ติดเชื้อ รวมไปถึงการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้
5. ตรวจสุขภาพจิต
สุขภาพจิตมีความสำคัญพอๆ กับร่างกาย หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ภาวะซึมเศร้าทั้งก่อน และระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดของทารก น้ำหนักแรกเกิดน้อย จากผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าก่อนตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าในระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ ดังนั้นสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อลดความเสี่ยงของตนเองและลูกน้อย
6. ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรมและโครโมโซม
ถึงแม้ว่าคู่รักที่วางแผนจะมีบุตรไม่ได้มีโรคหรือมีความผิดปกติ แต่ก็อาจเป็นพาหะของโรคใดโรคหนึ่งได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองในระดับยีนก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยให้ทราบว่ามีโอกาสที่จะเป็นพาหะถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปยังลูกหรือไม่ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจว่าคู่รักมีปัญหาความผิดปกติทางพันธุกรรมแฝงอยู๋หรือไม่ เพื่อป้องกันการส่งความผิดปกตินั้น ๆ ไปยังลูก และในกรณีที่ มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้ง การตรวจโครโมโซมพ่อและแม่ อาจให้คำตอบได้ อาจมีคุณคนใดคนหนึ่งที่มีโครงสร้าง โครโมโซมผิดปกติ และทำให้ลูกผิดปกติ จึงเกิดภาวะแท้งได้
ทั้งนี้ หากตรวจพบความผิดปกติ ก็สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางการรักษา และวางแผนการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพต่อไป