ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.42 𝐖𝐨𝐫𝐥𝐝 𝐄𝐦𝐛𝐫𝐲𝐨𝐥𝐨𝐠𝐢𝐬𝐭 𝐃𝐚𝐲 25 กรกฎาคม วันนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโลก


“Embryologist หรือ นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน คือใคร ปฏิบัติหน้าที่อะไรกันบ้าง” 


วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองของ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งวันนี้เมื่อปี 1978 เป็นวันที่เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก ที่ชื่อว่า Louise Brown ได้ถือกำเนิดขึ้น จากผลงานของ Sir Robert Geoffrey Edwards ซึ่งเป็นนักสรีรวิทยาชาวอังกฤษและเป็นผู้บุกเบิกด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการปฏิสนธินอกร่างกาย และได้รับรางวัลโนเบลในปี 2010 

เพื่อเป็นเกียรติแก่ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จึงได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีเป็น World Embryologist Day นั่นเอง 

คุณดวงสมร เลียงกลกิจ ผู้จัดการแผนกห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จะมาเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนต่างๆ และความบทบาทสำคัญของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF ด้วยวิธี ICSI


นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน หรือ Embryologist มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้มีบุตรยากอย่างไร? 

นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน คือผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการการทำเด็กหลอดแก้วในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเก็บไข่ การคัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์เพื่อนำมาผสมกับไข่ การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน การคัดเลือกตัวอ่อนที่มีศักยภาพย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก รวมไปจนถึง การแช่แข็งไข่ อสุจิ และ ตัวอ่อน 

โดยทุกๆ ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะเฉพาะทาง ของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น 


ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีขั้นตอนที่สำคัญได้ดังนี้ 

1. การตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก : 

ฝ่ายหญิงจะมีการตรวจหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติที่ รังไข่ ท่อนำไข่ ผนังมดลูก หรือระดับฮอร์โมน ส่วนฝ่ายชายจะมีการตรวจคุณภาพของอสุจิ ทั้งจำนวน การเคลื่อนไหว ตลอดจนรูปร่างของอสุจิ 

2. กระบวนการกระตุ้นไข่ : 

สำหรับฝ่ายหญิงจะเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่ โดยคุณหมอจะให้ฮอร์โมน เพื่อให้ได้ไข่ที่สุกพร้อมกัน หลายๆ ใบ ส่วนฝ่ายชายเตรียมตัวดูแลตัวเอง โดยการงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ได้อสุจิมีคุณภาพดี 

3. กระบวนการเก็บไข่ :  

เริ่มเข้าสู่กระบวนการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน สำหรับฝ่ายหญิง เมื่อกระตุ้นไข่ 10-12 วัน ฟองไข่จะโตสมบูรณ์ จะถูกเก็บไข่ออกจากร่างกายผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่งของฟองไข่ และใช้เข็มเฉพาะดูดเก็บไข่ออกมาพร้อมกับสารน้ำ ส่งให้นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ตรวจหาไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบไข่แล้ว จะทำการเก็บไข่ที่ได้มาเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อรอผสมกับอสุจิในขั้นตอนต่อไป 

4. การเก็บและคัดแยกตัวอสุจิ : 

ฝ่ายชายจะเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ด้วยวิธีการช่วยตัวเอง และส่งให้ปฏิบัติการเตรียมอสุจิ โดยการคัดเซลล์ต่างๆ ที่ไม่สมบูรณ์ออก เช่น เศษเซลล์ เม็ดเลือดต่างๆ ที่ปนมากับน้ำเชื้อ โดยจะคัดให้เหลือแต่อสุจิที่มีคุณภาพดี หากฝ่ายชายเคยทำหมัน หรือตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ จำเป็นต้องเจาะดูดจากอัณฑะโดยตรง 

5. กระบวนการปฏิสนธิ : 

เมื่อเก็บไข่เรียบร้อย ก็จะทำการผสมด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ซึ่งเป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด โดยเตรียมอสุจิให้ได้จำนวนที่เหมาะสม และให้อสุจิว่ายเข้าไปหาไข่เอง หรือการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ซึ่งจะเป็นการดูดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเข็ม และยิงเข้าไปในไข่ ซึ่งจะใช้เครื่องมือและกล้องจุลทรรศน์ที่มีความละเอียดมากในห้องปฏิบัติการ และใช้ความชำนาญของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนด้วย 

6. การเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ : 

กระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Blastocyst Culture) เป็นการเลี้ยงตัวอ่อนด้วยน้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโดยเฉพาะ ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น รวมไปจนถึงก๊าซต่างๆ เป็นกระบวนการเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายมากที่สุด โดยทำการเลี้ยงตัวอ่อนจะมีการติดตามดูพัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละวัน ไปจนถึง ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) Day 5 หรือ Day 6 ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนมีความเหมาะสมกับการฝังตัว สามารถใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น 

Day 1 :  ติดตามการปฏิสนธิ (16-18 ชั่วโมง หลังการผสมไข่และอสุจิ) ซึ่งการปฏิสนธิปกติ คือการพบ PN หรือ Pronuclear 2 อัน ที่มาจากคุณพ่อและคุณแม่ 

Day 3 :  ติดตามการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อน (66 ชั่วโมง + 2 ชั่วโมง หลังการผสมไข่และอสุจิ) โดยตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์ตั้งแต่ 6-8 เซลล์ ไม่พบเศษเซลล์อื่นๆ และ vacuole ในตัวอ่อน ถือว่ามีการแบ่งตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  

Day 4 :  เซลล์จะเริ่มกลับมารวมกัน โดยผิวของเซลล์แต่ละเซลล์จะเข้ามาเชื่อมกัน แต่ยังมีการแบ่งเซลล์ขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าสู่ระยะ Morula มีลักษณะคล้ายๆ ลูกน้อยหน่า  

Day 5 :  เข้าสู่ตัวอ่อนระยะ Blastocyst จะมีกลุ่มเซลล์ 2 กลุ่มที่แยกกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกเรียกว่า Inner Cell Mass หรือกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นทารก ส่วนเซลล์รอบๆ เรียกว่า Trophectoderm หรือกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรก เกาะกับผนังเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่  

Blastocyst Grading จะใช้พยัญชนะ 2 ตัว เช่น เกรด AA หรือเกรด AB 

  • พยัญชนะตัวแรก คือการ Grading ของกลุ่ม Inner Cell Mass  
  • พยัญชนะตัวที่ 2 คือการ Grading ของกลุ่ม Trophectoderm 

A คือดีที่สุด ส่วน B หรือ C ก็จะมีคุณภาพที่ลดลงไป โดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลือกตัวอ่อนที่เหมาะสมสำหรับการย้ายกลับ หรือสำหรับการตรวจโครโมโซม รวมถึงการเลือกตัวอ่อนเพื่อการแช่แข็ง จะต้องมีเกรดที่ดีทั้ง Inner Cell Mass และ Trophectoderm ซึ่งตัวอ่อนที่มีเกรด CC จะมีโอกาสประสบความสำเร็จลดลง 

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ร่วมกับการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (PGT) จะช่วยเพิ่มโอกาสได้ตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติ หรือปราศจากยีนก่อโรค ก่อนการย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ทำให้ประสบความสำเร็จการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น 

7. ย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก : 

นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี มีศักยภาพสูงในการฝังตัว และใช้สายย้ายตัวอ่อนขนาดเล็ก ทำการดูดตัวอ่อน เพื่อให้แพทย์สอดสายย้ายตัวอ่อนผ่านปากมดลูกเพื่อวางตัวอ่อนบนเยื่อบุโพรงมดลูก  

8. การแช่แข็งตัวอ่อน : 

ตัวอ่อนที่เหลือหรือไม่ได้ใส่กลับในรอบนั้น รวมถึงตัวอ่อนที่รอผลโครโมโซม จะถูกนำไปแช่แข็งด้วยวิธี Vitrification โดยตัวอ่อนที่แช่แข็ง Blastocyst 1 ตัว จะถูกเก็บไว้ 1 straw มีการจัดเก็บที่ไม่ปนกัน และถูกเก็บในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ได้หลายปี เป็นวิธีที่ให้อัตราการรอดหลังละลายตัวอ่อนสูงมากถึงมากกว่า 95% และสามารถกลับมาใส่ตัวอ่อนในภายหลังได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่ใหม่ 

9. การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม (PGT) : 

ในกรณีที่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม หรือการตรวจ PGT ตัวอ่อนที่เหมาะสมสำหรับการนำไปตรวจ ควรอยู่ในระยะ Hatching Blastocyst เป็นต้นไป คือมีเซลล์บางส่วนฟักออกมาจากเปลือก โดยการทำ Biopsy หรือตัดชิ้นเนื้อออกไปประมาณ 3-5 เซลล์จากกลุ่มเซลล์ในส่วน Trophectoderm ซึ่งตัวอ่อนระยะนี้จะมีการสร้างและพัฒนาเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสได้รับความเสียหายจึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยอัตราการรอดของตัวอ่อนหลังจากการทำ Biopsy มีมากกว่า 95% และไม่ได้เป็นกลุ่มเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับ Inner Cell Mass 

โดยการทำ Biopsy จะใช้เครื่องมือเดียวกับการทำ ICSI แต่เข็มจะมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อใช้ดูดเซลล์เข้าไปและใช้เลเซอร์ในการยิงเพื่อตัดชิ้นเนื้อได้ง่ายขึ้น และส่งเซลล์ที่ตัดมานั้นให้กับห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ 

หลังจากส่งเซลล์ไปตรวจโครโมโซมแล้ว จะรอประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวอ่อนกลับมาฟื้นฟูจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst เต็มที่ จึงนำตัวอ่อนไปแช่แข็งไว้ เพื่อรอผลโครโมโซมต่อไป 

10. การติดตามผลการตั้งครรภ์ : 

หลังจากย้ายตัวอ่อนไป 12 วัน จะมีการตรวจการตั้งครรภ์และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อคอนเฟิร์มว่าตัวอ่อนมีการฝังตัว 


ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และเตรียมอสุจิของ Superior A.R.T. ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 15189 ที่วัดระบบคุณภาพและความสามารถของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมไปถึงงานคุณภาพทั้งหมดของคลินิค ได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพจาก ISO 9001 เพื่อการทำงานมีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของห้องปฏิบัติการ การรายงานผล หรือการตรวจสอบเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานและอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล 

ในทุกๆ วัน ก่อนจะเริ่มปฏิบัติงาน นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะตรวจความเรียบร้อยและความพร้อมของตู้เลี้ยงตัวอ่อนและเครื่องมือต่างๆ โดยทำการตรวจเช็ค อุณหภูมิ ระบบแก๊ส ไปจนถึง VOC  

ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วนั้น การระบุตัวตนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นจะต้องมีการทำ Double-Checking โดยระหว่างที่คนหนึ่งทำงาน จะมีอีกหนึ่งคนคอยตรวจสอบว่าสิ่งที่กำลังปฏิบัตินั้น จะต้องตรงกับเอกสาร และที่ Superior A.R.T มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การระบุตัวตนนั้นถูกต้องมากยิ่งขึ้น คือการใช้ Electronic Witness หรือที่เรียกว่า Gidget® 

การทำ Gidget® จะมี QR code ติดอยู่ที่หลอดเก็บอสุจิหลังเตรียม จานเลี้ยงไข่และตัวอ่อน โดยจะต้องสแกน QR code คู่กันให้ถูกต้อง ถ้าผิดคนจะเริ่มงานไม่ได้  

นอกจากนี้นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ยังมีส่วนช่วยแพทย์ ในการประเมินผลการรักษาของคนไข้อีกด้วย โดยวิเคราะห์จากประวัติการรักษาที่ผ่านมาทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ประวัติการเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อหาสาเหตุและใช้เทคนิคที่เหมาะสม เพื่อให้ได้คุณภาพของตัวอ่อนที่ดีขึ้นและประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากที่สุด  

ที่ Superior A.R.T. นอกจากจะมีห้องแล็บเลี้ยงตัวอ่อนเป็นของตัวเองแล้ว ยังมีห้องแล็บพันธุศาตร์ Genetics ทำให้สามารถตรวจไข่ อสุจิ และตัวอ่อน และวิเคราะห์ผลจบได้ในที่เดียว โดยไม่จำเป็นต้องขนย้ายออกไปตรวจที่อื่นเลย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาการมีบุตร สามารถติดต่อที่ Superior A.R.T. ได้ทุกวัน

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

ถามหมอ 💬 : อายุ 40+ มีลูกได้ไหม by หมอจิว

เมื่อผู้หญิงเริ่มมีอายุมากขึ้น ความกังวลเรื่องการมีบุตรก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนหลายคนมีคำถามว่า อายุ 40 ปีขึ้นไป ยังมีโอกาสมีลูกได้หรือไม่?

สเปิร์มน้อย สเปิร์มไม่แข็งแรง แก้ไขได้ ถ้ารู้ก่อน

สเปิร์มน้อย สเปิร์มไม่แข็งแรง แก้ไขได้ ถ้ารู้ก่อน ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพคู่รัก Couple Checkup ในราคาพิเศษเพียง 4,999 บาท

Lab และ Technology ปัจจัยสำคัญที่ห้ามมองข้ามในการเลือกทำ ICSI

เนื่องจากการทำ ICSI เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ห้องปฏิบัติการ (Lab) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง