❝รอบเกี่ยวกับ(รัง)ไข่ และ(ฟอง)ไข่❞ โดยคุณหมอโฟม พญ. ศศิกาญจน์ ตั้งทัศนา – สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และภาวะการมีบุตรยาก สำหรับ 𝐋𝐈𝐕𝐄 รอบนี้ คุณหมอโฟมจะมาให้ความรู้เรื่องรังไข่มีหน้าที่ทำอะไร สาวๆ เรามีไข่จำนวนเท่าใดกัน แล้วเวลาอัลตราซาวด์เราเห็นฟองไข่หรือไม่ อย่างไร การกระตุ้นไข่บ่อยๆ จะทำให้ไข่จะหมดเร็วไหม กรณีมีซีสต์ทำให้มีลูกยากจริงไหม และต้องผ่าตัดก่อนหรือไม่ 👩🏻⚕️
1:26 รังไข่คืออะไร
รังไข่เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในผู้หญิง อยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งจะเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้าง 2 ข้างของมดลูก โดยอยู่ติดกับท่อนำไข่ ซึ่งมดลูกที่อยู่ตรงกลางเปรียบเสมือนลำตัว และท่อนำไข่จะเหมือนแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งปกติขนาดรังไข่ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีขนาดประมาณ 3 x 2 x 1 เซนติเมตร หรือขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ
2:22 หน้าที่ของรังไข่ หลักๆ มี 2 อย่าง คือ
1. การสร้างหรือผลิตฮอร์โมนเพศหญิง
อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในร่างกาย ทั้งเรื่องการตกไข่ การควบคุมประจำเดือนให้มาสม่ำเสมอ และการแสดงออกลักษณะทางเพศของเพศหญิง เช่น เสียงแหลม มีหน้าอก สะโพกผาย มีการสะสมของไขมันที่ทำให้มีรูปร่างเป็นผู้หญิง รวมไปถึงระบบอื่นๆ อย่างการยับยั้งการสลายของมวลกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีบทบาทในการเตรียมเยื่อบุผนังโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ และยังช่วยพยุงการตั้งครรภ์ให้ไปตลอดรอดฝั่ง โดยในช่วงแรกฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะถูกสร้างมาจากรังไข่ ที่เรียกว่าคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum) หลังจากที่พ้นระยะไตรมาสแรกไปแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหลักจะสร้างมาจากรก ดังนั้นผู้หญิงที่เคยมีประวัติแท้ง หรือทำเด็กหลอดแก้ว คุณหมอจะให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อช่วยพยุงการตั้งครรภ์
ส่วนผู้หญิงที่รังไข่หยุดทำงาน ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะลดต่ำลง หรืออยู่ในระดับที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะทำให้มีอาการวัยทอง เช่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ มีอาการร้อนวูบวาบ หรือบางคนที่หมดประจำเดือนเร็วอาจจะมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ปัญหามวลกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือปัญหาเรื่องความจำ โดยจะเกิดได้เร็วกว่าผู้หญิงที่หมดประจำเดือนปกติ
2. การผลิตและปล่อยเซลล์ไข่ หรือเซลล์สืบพันธุ์
ใน 1 รอบเดือน ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ จะมีฟองไข่ที่โตที่สุดและสุก ซึ่งจะตกลงมาที่บริเวณท่อนำไข่เพื่อรอผสมกับอสุจิ หากเกิดการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะเคลื่อนไปฝังในโพรงมดลูก เซลล์ไข่กับอสุจิจึงมีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตไปตัวอ่อนและทารก
หากลองเปรียบเทียบอวัยวะของผู้หญิงและผู้ชาย รังไข่จะเปรียบเทียบได้กับลูกอัณฑะของผู้ชาย ส่วนเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิงอย่างฟองไข่หรือเซลล์ไข่ จะเปรียบเทียบได้กับตัวอสุจิ ดังนั้นรังไข่จึงเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่มีบทบาทสำคัญที่ต่อการเกิดการตั้งครรภ์
6:23 รังไข่ใหญ่ขนาดไหน สามารถมองเห็นรังไข่ขนาดปกติ หรือคลำจากหน้าท้องได้ไหม?
โดยปกติเราจะไม่สามารถมองเห็นรังไข่ และไม่สามารถคลำจากหน้าท้องสำหรับรังไข่ที่มีขนาดปกติ แต่สามารถดูได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด โดยหัวตรวจอัลตราซาวด์จะไปชิดกับปากมดลูก จะทำให้เราเห็นรังไข่และฟองไข่ได้ชัดขึ้น แต่หากตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งหัวตรวจอัลตราซาวด์จะต้องผ่านผิวหนังและชั้นผนังหน้าท้องที่มีไขมัน รวมถึงการมีแก็สในลำไส้ ก็จะทำให้เห็นรังไข่หรือฟองไข่ได้ยากขึ้นและไม่ชัดเจน
การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดจะเห็นเซลล์ไข่หรือฟองไข่เล็กๆ ซึ่งสิ่งที่เห็นจริงๆ แล้วคือสารน้ำในฟองไข่ เซลล์ไข่หรือฟองไข่จริงๆ จะมองไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่หากมีความผิดปกติของรังไข่ เช่น ถุงน้ำหรือซีสต์ คุณหมอก็จะสามารถเห็นจากการตรวจอัลตราซาวด์ได้ ซึ่งซีสต์ที่มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะตรวจพบได้ยากจากตรวจภายในโดยใช้มือคลำผ่านทางช่องคลอดและผนังหน้าท้อง ดังนั้นคุณหมอแนะนำให้ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีเพศสัมพันธ์แล้ว ตรวจเช็คอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี ไม่ว่าจะเป็น มดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถทำพร้อมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีได้
8:34 ซีสต์ที่รังไข่ คืออะไร?
ทางการแพทย์ ซีสต์จะใช้เรียกถุงน้ำที่มีลักษณะเรียบ ข้างในเป็นน้ำใสหรือน้ำขุ่น เนื้อไม่ตัน ซึ่งถือว่าเป็นถุงน้ำเนื้อดี โอกาสเป็นเป็นเนื้อร้ายหรือเป็นมะเร็งน้อย
หากคุณหมอทำการตรวจอัลตราซาวด์แล้วเห็นก้อนมีลักษณะผิดปกติ ซึ่งก็คือเนื้องอกที่รังไข่ สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือเนื้องอกที่เป็นเนื้อดี กับเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย โดยส่วนใหญ่เนื้องอกแบบเป็นเนื้อดี จะมีส่วนประกอบของน้ำเป็นหลัก ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย จะมีทั้งน้ำและเนื้อตันประกอบกัน
9.57 เมื่ออัลตราซาวด์ คุณหมอจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นซีสต์?
ถ้าเป็นรังไข่ธรรมดา จะเห็นเป็นฟองไข่เล็กๆ แต่หากเป็นซีสต์ จะเห็นเป็นถุงน้ำใหญ่ๆ ซึ่งถ้าเป็นถุงน้ำที่สะท้อนแสงจากคลื่นอัลตราซาวด์ แบ่งได้เป็น
10:41 ประเภทของซีสต์ มีดังนี้
1. ซีสต์ปกติที่ไม่ได้เป็นรอยโรคหรือพยาธิสภาพ คือซีสต์หรือถุงน้ำที่เกิดได้ตามรอบการตกไข่หรือรอบการมีประจำเดือน โดยแบ่งเป็น
- ถุงน้ำที่เกิดจากไข่ไม่ตก หากรอบประจำเดือนก่อนหน้าไม่มีการตกไข่ ถุงฟองไข่นั้นจะโตขึ้นและจะคงอยู่จนถึงรอบประจำเดือนถัดไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำอะไร สามารถตรวจติดตามได้
- ถุงน้ำที่เกิดจากไข่ตก ส่วนใหญ่จะเจอในช่วง 14 วันหลังจากวันแรกของการมีประจำเดือน หรือช่วงครึ่งหลังจากที่ไข่ตก จนถึงก่อนรอบประจำเดือนรอบถัดไป โดยซีสต์ประเภทนี้เกิดจากฟองไข่ตกไปแล้ว แต่มีเปลือกไข่ที่เหลืออยู่มีเลือดออกและขังอยู่ภายในถุงหรือเปลือกไข่นั้น หากซีสต์แตก อาจทำให้ปวดท้องและมีเลือดออกในท้องได้ แต่หากเลือดหยุดเอง ก็จะหยุดโต และกลายเป็นถุงซีสต์
ซึ่งซีสต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีโอกาสหายได้เอง สามารถตรวจติดตามได้ ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใดๆ ยกเว้นว่ามีซีสต์แตก และมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือปวดท้องเฉียบพลัน อาจจะต้องได้รับการรักษา โดยซีสต์ที่เกิดตามรอบประจำเดือน ทั้งเกี่ยวกับการตกไข่หรือไม่ตกไข่ จะไม่มีผลต่อการมีบุตรยากในอนาคต อาจจะรักษาโดยการใช้ยาฮอร์โมนหรือตรวจติดตามได้
2. ซีสต์ที่เป็นพยาธิสภาพหรือรอยโรค สามารถพบได้บ่อยในถุงน้ำ และเซลล์เยื่อบุผิว เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ PCOS และเดอร์มอยด์ซีสต์ ซึ่งซีสต์ที่มีผลต่อภาวะมีบุตรยากในกลุ่มนี้ คือ
- PCOS หรือถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เกิดจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยภายในร่างกายที่สัมพันธ์กับความไม่สมดุลของฮอร์โมน มีการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเด่น รวมไปถึงภาวะไขมันหรือน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดขึ้น ซึ่งซีสต์ประเภทนี้ส่งผลทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากจากปัญหาเรื่องการตกไข่
- ช็อกโกแลตซีสต์ โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาหรือภาวะมีบุตรยากได้หลายกลไก ภายในช็อกโกแลตซีสต์จะมีลักษณะเป็นสารน้ำสีน้ำตาลคล้ายกับสีช็อกโกแลต เกิดจากเลือดเก่าๆ ที่สะสมอยู่ภายใน การอักเสบบริเวณส่วนผิวของรังไข่จะเห็นเป็นจุดเลือดออกสีแดงๆ ซึ่งจะทำให้มีพังผืดเกิดขึ้น หากพังผืดไปรัดรังไข่ จะทำให้ไข่ไม่สามารถหลุดหรือตกออกมาภายนอกได้ หรือหากรัดบริเวณท่อนำไข่ ก็ทำให้ท่อนำไข่อุดตันได้
หากซีสต์มีขนาดใหญ่ ก็จะกินพื้นที่เนื้อรังไข่ที่ดี ทำให้การทำงานของรังไข่ลดน้อยลง หากรังไข่นั้นยังทำงานได้ดี โอกาสที่จะผลิตเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์หรือมีคุณภาพดีออกมา น้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นช็อกโกแลตซีสต์ 8ส่วนการรักษาช็อกโกแลตซีสต์จะมี 2 แบบ คือการให้ยาฮอร์โมนและการผ่าตัด ซึ่งหลักการของการให้ยาฮอร์โมน คือยับยั้งการตกไข่เพื่อไม่ให้มีประจำเดือน โอกาสที่ช็อกโกแลตซีสต์จะยุบลงหรือไม่โตขึ้นก็จะมีมากขึ้น แต่เนื่องจากจุดประสงค์ของการให้ยาฮอร์โมนนี้ เพื่อยับยั้งการตกไข่ ดังนั้นฝ่ายหญิงอาจจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะวางแผนมีบุตรเลยหรือจะรักษาซีสต์ก่อน
ส่วนการผ่าตัด คุณหมออาจจะพิจารณาเป็นรายบุคคล ขึ้นอยู่กับอาการที่มี เช่น มีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากมีอาการมาก การผ่าตัดจะเป็นการช่วยบรรเทาอาการ และช่วยให้การมีบุตรเองตามธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากอาการแล้ว การพิจารณาผ่าตัดยังขึ้นอยู่กับขนาดของซีสต์ ส่วนใหญ่แล้วการรักษาช็อกโกแลตซีสต์ด้วยยาจะเหมาะสำหรับซีสต์ที่มีขนาดไม่เกิน 4-5 เซนติเมตร หากขนาดใหญ่กว่านั้น ยาฮอร์โมนอาจจะไม่สามารถไปกดซีสต์ได้เพียงพอ คุณหมอจึงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะต้องประเมินก่อนว่าสามารถผ่าตัดทันทีได้หรือไม่ หรืออาจต้องให้ยาฮอร์โมนก่อนผ่าตัด ซึ่งบางท่านอาจจะขอเก็บไข่ก่อนแล้วค่อยผ่าตัด
โดยทั่วไปแล้วหากพบว่ามีซีสต์หรือเนื้องอก หลายคนอาจต้องการผ่าตัดออก แต่การผ่าตัดที่รังไข่อาจมีข้อเสียที่อาจจะทำให้การทำงานของรังไข่ลดน้อยลง แม้ว่าจะเป็นเพียงซีสต์ขนาดเล็กๆ แค่ 3-4 เซนติเมตร เมื่อต้องเลาะซีสต์ที่เป็นตัวรอยโรคออก อาจจะมีส่วนของรังไข่ที่ปกติบริเวณรอบๆ ซีสต์ออกไปด้วยเช่นกัน ทำให้การทำงานของรังไข่อาจจะลดน้อยลง ซึ่งมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดและขนาดของซีสต์
ส่วนซีสต์ที่เป็นพยาธิสภาพ แต่ตามทฤษฎีแล้วไม่ได้ส่งผลต่อการมีบุตร คือ
- เดอร์มอยด์ซีสต์ ซึ่งเป็นการเจริญของเยื่อบุที่รังไข่ และเจริญมาเป็นเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ บริเวณรังไข่ หากต้องมีการผ่าตัด จะต้องระมัดระวังว่าเนื้อเยื่อรังไข่ที่ดีอาจจะหลุดออกไปหรือได้รับการผ่าตัดออกไปด้วย ทำให้การทำงานของรังไข่อาจจะลดน้อยลงได้
โดยข้างในของเดอร์มอยด์ซีสต์เป็นไขมัน ขน ผม ฟัน อาจจะมีน้ำหนัก และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์นั้น เช่น อาจจะบิดขั้วหรือแตกได้ ทำให้สารน้ำกระจายไปทั่วช่องท้องจนเกิดการอักเสบ หรือเกิดพังผืดเต็มช่องท้องได้ ดังนั้นตามทฤษฎีแล้ว เดอร์มอยด์ซีสต์ที่ีมีขนาดประมาณ 5-6 เซนติเมตร มีโอกาสที่จะบิดขั้วได้ง่ายและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย คุณหมอจึงแนะนำว่าควรจะผ่าตัดเอาซีสต์ออกออก - ซีสต์ที่เป็นเซลล์เยื่อบุผิว ข้างในเป็นน้ำใส ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อการมีบุตร การผ่าตัดจึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยขนาด 7-8 เซนติเมตร หากไม่ได้สงสัยว่าจะมีส่วนของเนื้อร้าย ก็ยังเป็นขนาดที่สามารถตรวจติดตามได้ทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน
เรียกได้ว่า ซีสต์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่คุณหมอแนะนำว่าให้มาตรวจ Check-up อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะเช็คดูว่ามีซีสต์อยู่หรือไม่ หรือหากอายุประมาณ 20 ปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็สามารถเริ่มมาตรวจโดยอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดได้
ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็มีโอกาสจะเกิดซีสต์ได้เช่นกัน แต่พบได้ไม่บ่อย โดยจะเป็นซีสต์ที่จำกัดเฉพาะช่วงอายุนั้นๆ หากสังเกตตัวเองแล้วไม่ได้มีอาการอะไร อาจจะเริ่มต้นตรวจที่อายุ 20 ปี แต่หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนมาก คลำเจอก้อน หรือประจำเดือนมาผิดปกติ แนะนำให้มาพบคุณหมอเพื่อพิจารณาว่าควรตรวจอ้ลตราซาวด์หรือไม่
25:19 ฟองไข่คืออะไร
ฟองไข่ เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งจะมีจำนวนมากที่สุดตอนอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ ประมาณ 6-7 ล้านฟอง หลังจากนั้นฟองไข่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ โดยจะมีฟองไข่ที่ไม่ได้ใช้ และฟองไข่ที่สลายไปค่อนข้างเยอะประมาณ 5 ล้านใบ จนถึงเมื่อคลอดจะเหลือแค่ 1-2 ล้านฟอง เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่นและเริ่มมีประจำเดือน ฟองไข่ก็จะเริ่มตกออกมา โดยจะมีจำนวนฟองไข่เริ่มตั้งต้นที่ 300,000 ใบ
หากลองตีตัวเลขง่ายๆ ช่วงวัยรุ่นอายุ 15 ปี จนถึงวัยทองอายุประมาณ 50 ปี รวมเป็นเวลา 35 ปี ฟองไข่ 300,000 ฟอง จะตกออกมาเดือนละ 1 ใบ เท่ากับว่าฟองไข่ที่เราใช้จริงๆ มีเพียง 400-500 ใบ เพราะฉะนั้นใน 1 รอบเดือน จะมีไข่จะตกแค่ใบเดียว ที่เหลือจะสลายไป จึงเป็นที่มาของหลักการกระตุ้นไข่ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะกระตุ้นไข่ที่ปกติแล้วจะสลายไป ให้เจริญเติบโตเพื่อเก็บไว้ใช้ แทนที่จะปล่อยให้สลายไป เป็นการตอบข้อสงสัยในกรณีที่กังวลว่าการกระตุ้นไข่จะทำให้ไข่หมดเร็วหรือรังไข่หยุดทำงานเร็วขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีผลแต่อย่างใด
สำหรับรอบประจำเดือนที่สม่ำเสมอ ฟองไข่จะตกเดือนละ 1 ใบ โดยแต่ละเดือนจะไม่รู้ว่าไข่ตกข้างไหน เพราะไข่จะตกแบบสุ่ม โดยบางคนอาจจะรู้สึกหน่วงในบริเวณข้างที่ไข่ตกได้หากมีสารน้ำในฟองไข่ไหลมาในอุ้งเชิงกราน การอัลตราซาวด์ก่อนที่ฟองไข่จะตก จะเห็นว่าฟองไข่โตด้านไหน ซึ่งจะทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าในรอบเดือนนี้ไข่น่าจะตกข้างนั้น ซึ่งจะช่วยสำหรับกรณีที่เคยท้องนอกมดลูก เคยผ่าตัดท่อนำไข่ด้านหนึ่ง หรือมีท่อนำไข่ตันด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้รู้ได้ว่าในเดือนนี้ฟองไข่จะตกข้างไหน มีโอกาสในการตั้งครรภ์ในรอบนี้มากน้อยแค่ไหน หรือสามารถใช้ร่วมเพื่อวางแผนงดการฉีดเชื้อ IUI หรือมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติในกรณีที่ไข่ตกในด้านที่ท่อนำไข่ตัน เพื่อปัองการการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเรื่องไข่
30:49 หากเข้ากระบวนการรักษา ICSI แล้ว กระตุ้นไข่หลายๆ รอบ ไข่จะหมดเร็วจริงไหม?
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะเป็นการกระตุ้นฟองไข่ในรอบเดือนนั้นที่กำลังจะสลายไป ให้เจริญเติบโตสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งถ้าไม่กระตุ้นไข่ก็จะสลายไปอยู่ดี เพราะในรอบเดือนหน้าก็จะเป็นฟองไข่ล็อตใหม่
31:30 การทำงานของรังไข่หรือฟองไข่เสื่อมเร็วกว่าอายุ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
ส่วนใหญ่การทำงานของรังไข่ที่เสื่อมเร็ว หรือหยุดทำงานเร็วกว่าอายุ เกิดจากปัจจัยดังนี้
- ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น มีโครโมโซมหรือสารพันธุกรรมผิดปกติ ที่ทำให้รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยเร็ว แม้จะไม่ได้พบบ่อยๆ แต่ก็ถือเป็นสาเหตุหนึ่งได้ สามารถทราบด้วยการตรวจโครโมโซม
- ปัจจัยภายนอก หลักๆ เกิดจากการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดซีสต์ รังไข่ เลาะพังผืด หรือบริเวณปีกมดลูก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรังไข่ เพราะท่อนำไข่กับมดลูกอยู่บริเวณเดียวกัน เส้นเลือดมาเลี้ยงจะเป็นเส้นเลือดที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมีเส้นเลือดไปเลี้ยงรังไข่น้อยลง อาจจะทำให้รังไข่เสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
นอกจากนี้ หากมีโรคประจำตัว จำเป็นต้องกินยาหรือเคยได้รับเคมีบำบัด เช่น เคยเป็นมะเร็งเต้านม จะมีผลทำให้รังไข่เสื่อมหรือหยุดทำงานเร็วกว่าอายุโดยปกติ รวมถึงโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันภายใน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการอักเสบที่รังไข่ ทำให้รังไข่ทำงานน้อยลง ผลิตฟองไข่ได้น้อยลงและรังไข่หยุดทำงานเร็วกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีนั้นไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้รังไข่หยุดทำงานเร็ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80-90% โดยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มลพิษ PM 2.5 ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต อาหารการกินที่ไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย ก็อาจจะมีผลทำให้รังไข่เสื่อมเร็วได้เช่นกัน
34:28 วิธีการป้องกันไม่ให้รังไข่เสื่อมเร็วคืออะไร?
เนื่องจากไม่รู้สาเหตุ จึงไม่รู้วิธีป้องกัน แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อช่วยชะลอการทำงานของรังไข่ที่ลดลงได้ เช่น การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์, กินวิตามินเสริม, การลดความเครียดที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อฮอร์โมนภายใน, การออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นเลือดให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงรังไข่ได้ดีขึ้น งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และสารเคมีที่อาจจะมีผลทำให้การทำงานของรังไข่เสื่อมลง
35:21 จะรู้ได้อย่างไรว่ารังไข่ของเราเสื่อมเร็วกว่าอายุ?
ส่วนใหญ่จะมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รอบประจำเดือนห่าง ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่บ่งบอกว่ารังไข่อาจจะทำงานน้อยลง หรือบางคนอาจจะมีอาการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เพราะหากรังไข่หยุดทำงาน ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะลดลง ส่งผลให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ อาการเหมือนเข้าสู่วัยทอง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ
36:28 ปัจจัยประเมินการทำงานของรังไข่เพื่อดูว่ามีฟองไข่กี่ใบ มีอะไรบ้าง?
- อายุ
- ฮอร์โมน AMH
- อัลตราซาวด์ดูฟองไข่ตั้งต้นในช่วงที่มีประจำเดือน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน
สรุปก็คือฟองไข่จะมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การอัลตราซาวด์ก็ไม่สามารถเห็นฟองไข่ได้ แต่ใช้ตรวจดูสารน้ำในฟองไข่ เพื่อประเมินว่าน่าจะมีฟองไข่กี่ใบ เมื่อเก็บไข่จะดูดน้ำในฟองไข่ และนำไปตรวจดูฟองไข่ด้วยกล้องจุลทรรศน์
อย่างไรก็ตาม หากกระตุ้นไข่ได้หลายใบ ก็ไม่ได้หมายความว่าไข่จะสมบูรณ์เสมอไป โดยจะต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และดูฟองไข่ที่ผ่านการล้างเซลล์รอบฟองไข่แล้วอีกรอบว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ต้องดูอีกว่าหลังปฏิสนธิได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์หรือไม่
หรือหากฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว มีไข่โต 10 ใบ แต่เก็บไข่ได้เพียง 1 ใบ หมายความว่าอีก 9 ใบ อาจจะเป็นสารน้ำที่ไม่มีฟองไข่อยู่ในนั้น
อย่างไรก็ตาม Superior A.R.T. มีการเจาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นวิธีที่จะมาช่วยสนับสนุนว่าสารน้ำที่เราเห็น 10 ใบนั้น จะมีฟองไข่ 10 ใบหรือไม่ โดยในรังไข่ ในไข่ที่สมบูรณ์นอกจากจะสร้างสารน้ำแล้ว ก็ยังสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไข่ที่โตสมบูรณ์หรือไข่ที่พร้อมเก็บแล้ว จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับที่สูงประมาณ 200-300 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร (pg/mL) ยกตัวอย่างเมื่อเก็บไข่ เห็นฟองไข่ 10 ใบ ก็ควรจะเจาะฮอร์โมนเอสโตรเจนรวมได้ 2,000-3,000 pg/mL แต่หากตรวจได้ 500 pg/mL ก็จะบอกได้ว่า 10 ใบที่เห็นนั้น อาจจะเก็บไข่ที่สมบูรณ์ได้เพียง 2-3 ใบ
นอกจากการประเมินจำนวนฟองไข่ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์แล้ว ก็จะใช้การตรวจวัดค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมด้วย
สุดท้ายขนาดของฟองไข่ที่สามารถอัลตราซาวด์ดูได้ว่ามีความสมบูรณ์
จะมีขนาดมาตราฐานอยู่ที่ 18 มม. ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่ระบุว่าขนาดของไข่ที่เหมาะสมที่จะเก็บและมีโอกาสได้ฟองไข่ที่สมบูรณ์ ควรจะมีขนาดสารน้ำอยู่ที่ 16-24 มม. ขึ้นไป ก็จะมีโอกาสที่จะได้ฟองไข่ที่สมบูรณ์กว่าขนาดน้อยกว่านั้น
ดังนั้น เมื่อกระตุ้นไข่ คุณหมอจะดูฟองไข่ที่อัลตราซาวด์ ว่ามีขนาดที่เกิน 16-20 มม. กี่ใบ หากขนาดยังเล็กกว่าอาจจะกระตุ้นเพิ่มให้ถึงขนาดที่ต้องการ เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้ฟองไข่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
ข่าวสารและบทความอื่นๆ

