ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.54 ❝ รังไข่เสื่อม มีลูกได้ไหม ❞


ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary ovarian insufficiency) คืออะไร จะมีลักษณะอาการอะไรบ่งบอก แล้วส่งผลกระทบอะไรบ้าง ❝รังไข่เสื่อม มีลูกได้ไหม❞

พญ. ศศิกาญจน์ ตั้งทัศนา สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และภาวะการมีบุตรยากที่คลินิค Superior A.R.T. จะมาตอบข้อสงสัยให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ 👩🏻‍⚕️💬


1:30 รังไข่เสื่อม

หมายถึง รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยที่ควรจะเป็น ปกติรังไข่จะหยุดทำงานช่วงอายุประมาณ 48-50 ปี

ในผู้หญิงที่รังไข่เสื่อม การทำงานของรังไข่จะลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ แทนที่จะยังสามารถมีบุตรได้จนถึงอายุ 48-50 ปี กลับมีโอกาสที่จะมีลูกในช่วงอายุที่สั้นกว่านั้น

ซึ่งรังไข่เสื่อม ไม่ได้มีความหมายตรงกับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย รังไข่เสื่อมเป็นคำที่พูดคุณหมอพูดเพื่อเตือนคนไข้ว่าตอนนี้ฟองไข่ที่เห็นของคนไข้มีจำนวนน้อยกว่าที่ควรตามอายุนั้นๆ อาจจะมีรังไข่เสื่อม ส่วนรังไข่เสื่อมก่อนวัยจะเป็นชื่อโรค ซึ่งการจะบอกว่าคนไข้เป็นโรคนี้ จะต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจนร่วมด้วย

โดยปกติแล้วรังไข่จะหยุดทำงานที่อายุเฉลี่ยประมาณ 48-50 ปี หากเป็นโรครังไข่เสื่อมก่อนวัย รังไข่จะหยุดทำงานที่ก่อนอายุ 40 ปี ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย ตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ร่วมกับการรักษา เพื่อป้องกันภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดตามมาในอนาคต

ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยมีผลต่อสุขภาพและการมีบุตร ตามธรรมชาติแล้วหากรังไข่ยังทำงานอยู่ รังไข่จะผลิตฟองไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ รวมถึงผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในร่างกาย เช่น เกี่ยวกับมวลกระดูก ความจำ สมอง หลอดเลือดและหัวใจ หากรังไข่เสื่อมก่อนวัย ฮอร์โมนเพศหญิงก็จะลดลง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพตามมา


4:13 รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย?

หากเป็นช่วงแรกหรือยังเป็นไม่รุนแรงมาก โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการใดๆ อาจจะทราบเมื่อวางแผนจะมีลูก เมื่อคุณหมอทำอัลตราซาวด์แล้วไม่เห็นฟองไข่ หรือเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนแล้วคุณหมอสงสัยว่าเป็นรังไข่เสื่อมก่อนวัย

สำหรับกรณีที่มีอาการ ก็จะสังเกตได้จากประจำเดือนเป็นหลัก โดยเกณฑ์ในการวินิจฉัย ไม่ได้ดูที่ปริมาณประจำเดือนมามากหรือน้อย แต่จะดูที่ระยะห่างระหว่างรอบประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงที่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย ส่วนใหญ่แล้วประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ ระยะห่างระหว่างรอบอาจจะสั้นบ้างยาวบ้าง โดยทั่วไปแล้วรอบประจำเดือนจะประมาณ 31 วัน หรือบวกลบ 7 วัน จะอยู่ที่ 24-38 วัน หากมีรอบสั้นหรือยาวกว่านี้ ประกอบกับการมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจจะเป็นอาการบ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ก็อาจมีสาเหตุที่เกิดจากอีกหลายโรคได้เช่นกัน หากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้มาพบคุณหมอและปรึกษาว่ามีความเสี่ยงจะเป็นรังไข่เสื่อมก่อนวัยหรือไม่

นอกจากนั้นในคนที่มีภาวะรังไข่เสื่อมรุนแรงมาก อาจจะมีอาการหงุดหงิดง่ายเหมือนกับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง ปกติแล้ววัยทองอายุเฉลี่ยประมาณ 48-50 ปี ก็จะมีอาการหงุดหงิดง่ายช่วงอายุนั้น แต่ถ้ารังไข่เสื่อมรุนแรงคนไข้อาจจะมีอาการในช่วงอายุประมาณ 30 หรือ 40 ปี หรือช่วงที่รังไข่หยุดทำงานนั่นเอง หากสงสัยก็แนะนำให้เข้ามาปรึกษาคุณหมอ โดยจะคุณหมอจะวินิจฉัยจากอาการร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งดูค่าฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่สร้างจากรังไข่ และฮอร์โมน FSH ที่สร้างมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน หากรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยหรือเสื่อมก่อนวัย ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีระดับต่ำ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหรือ FSH ก็จะมีค่าสูงกว่าปกติ โดยคุณหมอจะเจาะเพื่อเป็นการยืนยัน 2 ครั้ง ก่อนที่จะวินิจฉัยว่ารังไข่เสื่อม โดยจะแจ้งคนไข้ว่าเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนก่อนวัย และมีโอกาสมีบุตรยากตามมา

อีกหนึ่งฮอร์โมนที่จะช่วยบอกเรื่องการทำงานของรังไข่ได้ก็คือฮอร์โมน AMH สำหรับผู้หญิงรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือกำลังวางแผนจะมีลูกน่าจะรู้จักฮอร์โมนตัวนี้ ซึ่งเป็นการดูตั้งต้นว่ารังไข่ทำงานจะมีฟองไข่มากน้อยแค่ไหน โดยปกติแล้วฮอร์โมน AMH จะ Report เป็นช่วงอายุ ฮอร์โมน AMH จึงมีระยะค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งในบางงานวิจัยจะมีบอกว่าอายุเท่านี้ ฮอร์โมน AMH ควรจะอยู่ประมาณเท่าไหร่

ในปัจจุบัน ฮอร์โมน AMH มีการนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น คุณหมอจึงดูค่านี้และอ้างอิงจากเกณฑ์ตามอายุ ปกติแล้วถ้าค่า AMH สูง แปลว่าการทำงานของรังไข่จะยังดี มีฟองไข่เยอะอยู่ แต่ถ้าค่า AMH ต่ำ แปลว่าการทำงานของรังไข่เริ่มไม่ดี เริ่มเสื่อมลง


9:05 ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยมีสาเหตุจากอะไร?

ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งคุณหมอจะรักษาตามผลกระทบที่ตามมาจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย แต่ในกรณีที่ทราบสาเหตุก็จะรักษาตามโรค เช่น ภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็น SLE หรือโรคไทรอยด์ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ซึ่งจะต้องมีคุณหมอเฉพาะทางที่รักษาโรคนี้ด้วย

อีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้ คือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ เช่น สูบบุหรี่ ได้รับสารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำงานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี รวมไปถึงพวกโลหะหนัก ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้การทำงานของรังไข่ลดลงได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโครโมโซม หรือสารพันธุกรรมภายในร่างกาย ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยที่เจอได้ คือ Fragile X syndrome และ Turner Syndrome ที่โครโมโซม X หายไปทั้งแท่ง หรือเป็นแบบ Mosaic บางเนื้อเยื่อมีโครโมโซมที่ปกติ แต่บางเนื้อเยื่อมีโครโมโซม X หายไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนไข้จะมาด้วยเรื่องหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อตรวจโครโมโซมก็อาจจะเจอว่าเป็นโครโมโซมผิดปกติได้

แต่ที่พบเจอได้บ่อยในปัจจุบัน คือการรักษาโรคที่เกี่ยวกับการผ่าตัดรังไข่ หรือการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์หรือมดลูก ทำให้การทำงานของรังไข่ลดลงเร็วกว่าปกติ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคยผ่าตัดที่มีการทำงานของรังไข่ที่ดีกว่า

อีกทั้งปัจจุบัน มีการตรวจพบโรคมะเร็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งทางเลือด ที่จะต้องได้รับเคมีบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย อาจจะส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ลดลงหรือเสื่อมลงเร็วกว่าปกติได้


13:09 ทำอย่างไรให้ฟองไข่เสื่อมน้อยลง เสื่อมช้าลง หรือให้เสื่อมลงตามอายุ?

หนึ่งในสาเหตุที่ทำทำให้รังไข่เสื่อมก่อนวัย ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมี หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รังไข่เสื่อมลงเร็ว คุณหมอแนะนำว่าให้ดูแลตัวเอง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นโปรตีนและธัญพืช งดอาหารหวาน หรืออาหารประเภทไขมัน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อร่างกาย และหากไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดอาจจะอุดตัน และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงรังไข่ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน

รวมไปถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มเส้นเลือด และเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะบริเวณรังไข่หรืออวัยวะสืบพันธุ์ ช่วยให้ความเสื่อมของรังไข่อาจจะน้อยลง

หากรังไข่เสื่อมแล้ว คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย การรักษาก็คือให้ดูแลสุขภาพโดยรวม และจะพิจารณาการให้ฮอร์โมนเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ขาดหายไป ที่จะช่วยเรื่องหลอดเลือด ความจำ สมอง และกระดูกด้วย


15:09 ฮอร์โมนเสริมช่วยเรื่องการมีลูกหรือไม่?

ฮอร์โมนที่คุณหมอให้เป็นการทดแทนฮอร์โมนที่หายไป แต่การทำงานของรังไข่จะไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้นรังไข่ก็ยังจะผลิตฟองไข่น้อยเหมือนเดิม ตามทฤษฎีแล้วแม้ว่ารังไข่จะหยุดทำงาน หรือเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย ก็มีรายงานว่าสามารถตั้งครรภ์ได้ เพียงแต่มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้มีภาวะรังไข่เสื่อม โดยจะมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 2-5% เพราะปกติการที่จะตั้งครรภ์ได้ ต้องมีการตกไข่ ถ้าใน 1 เดือนไข่ตก 1 ใบ หากรังไข่ทำงานดีมีฟองไข่ตก ก็อาจจะมีโอกาสตั้งครรภ์เดือนละ 1 ครั้ง

สำหรับผู้หญิงที่รังไข่เสื่อม การทำงานของรังไข่ไม่ดี ในช่วง 1-3 เดือน ไข่อาจจะยังไม่ตก หรือคุณภาพฟองไข่อาจจะไม่ดี ใน 1 ปีอาจจะมีไข่ตกเพียง 4 ครั้ง โอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง นอกจากนี้การทำงานของรังไข่ที่เสื่อมลง คุณภาพฟองไข่ก็จะลดลงไปด้วย และแม้จะมีไข่ตกแต่คุณภาพฟองไข่อาจจะไม่ได้ดีเทียบเท่ากับฟองไข่ที่มาจากรังไข่ที่ทำงานปกติ


16:49 สรุปแล้ว รังไข่เสื่อมสามารถมีลูกได้หรือไม่?

ถ้าตามธรรมชาติมีโอกาสมีลูกได้ แต่เปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อยประมาณ 2-5%

สำหรับผู้หญิงที่รังไข่เสื่อม การทำงานของรังไข่น้อย ควรต้องรีบ เพราะหากรอต่อไปการทำงานของรังไข่ก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะได้จำนวนฟองไข่และฟองไข่ที่คุณภาพดีก็จะน้อยลง

ในกรณีที่ยังไม่ได้แต่งงาน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่ใจว่าเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยหรือไม่ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยคุณหมออาจจะแนะนำให้ฝากไข่และเก็บฟองไข่แช่แข็งไว้ก่อนที่รังไข่จะหยุดทำงาน เพื่อให้สามารถวางแผนมีลูกในอนาคตได้

หรือในกรณีที่แต่งงานแล้ว และเคยปรึกษาคุณหมอว่ามีภาวะรังไข่เสื่อม กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วอาจเป็นการเพิ่มโอกาส เนื่องจากว่าเป็นการกระตุ้นฟองไข่ และเก็บฟองไข่มาปฏิสนธิกับอสุจิภายนอก หากได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีก็จะย้ายกลับเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ที่สูงกว่าแบบธรรมชาติ

โดยสรุปก็คือหากมีอาการประจำเดือนผิดไม่ปกติ รอบสั้นบ้างรอบยาวบ้าง มาไม่สม่ำเสมอ หรือเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยที่จะหมดประจำเดือน อาจจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีภาวะรังไข่เสื่อมหรือไม่ และควรหันมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานวิตามินบำรุงเสริม เพื่อเป็นการชะลอการเสื่อมของรังไข่

👩🏻‍⚕️💬 หากมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ IUI สามารถเข้ามาปรึกษาคุณหมอได้ที่ Superior A.R.T. ได้ทุกวัน

LIVE หมอโฟม พญ. ศศิกาญจน์ ตั้งทัศนา

พญ. ศศิกาญจน์ ตั้งทัศนา
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และภาวะการมีบุตรยาก

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

🔬นักวิทย์ 💬 อยากเล่า : กลุ่มไหนบ้างที่มาคัดกรองลูกปลอดโรคที่ Superior A.R.T.

ดร.เก๋ เกษร จะมาเล่าให้ฟังว่า 3 กลุ่มที่เข้ามาปรีกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรที่แข็งแรง ปลอดจากโรคทางพันธุกรรมมีใครกันบ้าง

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.55 ❝ทำหมันแล้ว แต่อยากมีลูก จะทำอย่างไร❞

เคยทำหมันมาแล้ว ตอนนี้อยากมีลูกอีกครั้ง จะมีแนวทางการรักษาใดบ้างที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จมากขึ้น

ไขข้อข้องใจ! การตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) มีผลต่อคุณภาพของตัวอ่อนจริงหรือ?

หลายคนกังวลว่า การตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) อาจทำให้ตัวอ่อนเสียหายหรือส่งผลต่อการฝังตัว วันนี้ Superior A.R.T. จะมาพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ