ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ปัจจุบันจึงมีวิธีและเทคนิคการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ได้ผลดีและหลากหลายมากขึ้น หนึ่งในเทคนิคที่นิยมมากก็คือ IUI (Intrauterine Insemination) หรือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ช่วยให้หลายครอบครัวสามารถเอาชนะภาวะมีบุตรยากสำเร็จมาแล้วมากมายในราคาย่อมเยา บทความนี้ Superior A.R.T. จะพามาทำความเข้าใจว่า การทำ IUI คืออะไร? เหมาะกับใคร? พร้อมขั้นตอนการทำ IUI อย่างละเอียด เพื่อให้ (ว่าที่) คุณพ่อคุณแม่ได้วางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยากกันค่ะ
การทำ IUI คืออะไร?
IUI หรือ Intrauterine Insemination คือ เทคนิคการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ช่วยให้สเปิร์มว่ายไปถึงเซลล์ไข่และเกิดการปฏิสนธิได้ง่ายกว่าเดิม ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ง่ายและมีขั้นตอนน้อยกว่าเทคนิคการรักษาภาวะมีบุตรยากอื่นๆ อย่างการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หรือ ICSI การทํา IUI ค่าใช้จ่ายจึงต่ำกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า แพทย์มักแนะนำให้เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากลำดับแรก ก่อนที่จะเลือกใช้เทคนิคการรักษาขั้นสูงอื่นๆ
การทำ IUI เหมาะกับใคร แพทย์มักใช้ในกรณีใดบ้าง?
เทคนิค IUI นิยมใช้ในกรณี ดังนี้
- ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เล็กน้อย
- มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือมีความผิดปกติของมูกช่องคลอดหรือบริเวณปากมดลูก
- มีจำนวนอสุจิน้อยกว่าเกณฑ์เล็กน้อย
- ภาวะอสุจิเคลื่อนไหวช้า
- ปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิหรือมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย
เทคนิค IUI ไม่ควรใช้ ในกรณีดังนี้
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรง
- ท่อนำไข่ทั้งสองข้างถูกตัดออกหรือตัน
- สงสัยท่อนำไข่มีความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่บวม หรือตัน
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบและติดเชื้อ
- ปริมาณอสุจิน้อยมาก
เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้ว แพทย์จะช่วยประเมินรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยในบางกรณี การใช้แค่เทคนิค IUI ก็เพียงพอและประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ การทํา IUI ให้สําเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละบุคคลด้วย แต่ในบางกรณีก็อาจต้องใช้เทคนิคการรักษาอื่นๆ เช่น IVF หรือ ICSI
ขั้นตอนการทำ IUI มีอะไรบ้าง
วิธีทำ IUI หรือการฉีดน้ําเชื้อเข้าโพรงมดลูก เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ดี หลายคนอาจสงสัยว่า IUI ดีไหม การทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ (ว่าที่) คุณพ่อคุณแม่ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนตัดสินใจทำ
1. การกระตุ้นไข่
การกระตุ้นไข่ให้โตเป็นขั้นตอนการทำ IUI ที่สำคัญ แพทย์จะให้ฝ่ายหญิงรับประทานยาเม็ด หรือฉีดยา (ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาทาน) เพื่อกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตและพัฒนาไข่ที่มีคุณภาพดี ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษานี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
2. ติดตามการเจริญเติบโตของไข่
แพทย์จะนัดติดตามการตอบสนองของรังไข่ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์และ/หรือตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดในช่วงก่อนไข่ตก เพื่อประเมินขนาดไข่และความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยขนาดไข่ที่เหมาะสมควรมีขนาด 18-20 มิลลิเมตรขึ้นไป และเยื่อบุโพรงมดลูกต้องมีความหนาที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการฝังตัวอ่อน เมื่อทุกอย่างพร้อม แพทย์จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก
3. การฉีดยากระตุ้นการตกไข่
หลังฉีดยากระตุ้นการตกไข่ 36-42 ชั่วโมง แพทย์จะนัดทำ IUI ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมระหว่างไข่และอสุจิ การจับจังหวะให้แม่นยำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราความสําเร็จ IUI โดยแพทย์จะนัดให้คู่สามีภรรยามาที่คลินิกพร้อมกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป
4. การเตรียมอสุจิ
ในวันทำ IUI ฝ่ายชายจะเก็บอสุจิและส่งให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อปั่นล้างและคัดกรองเอาเฉพาะอสุจิที่แข็งแรง โดยกำจัดอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหว รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่อาจก่อความระคายเคืองต่อมดลูกออก นอกจากนี้ น้ำอสุจิที่ได้จะมีความเข้มข้นของอสุจิมากขึ้น ทำให้มีโอกาสผสมกับไข่ได้มากขึ้นด้วย กระบวนการเตรียมอสุจินี้ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำอสุจิเริ่มต้น
5. การฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก
เมื่อเตรียมอสุจิเสร็จ แพทย์จะฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) ด้วยการสอดสายสวนขนาดเล็กที่อ่อนนุ่ม ทำให้แทบไม่ปวดเลย เมื่อสอดสายผ่านช่องคลอดและปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว แพทย์จะฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกด้านบน เพื่อให้อสุจิวิ่งเข้าไปเจอกับไข่และเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ โดยจะใช้เวลาในการทำ IUI เพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น
การพักฟื้นและการดูแลร่างกายหลังทำ IUI
หลังการทำ IUI เสร็จแล้ว ฝ่ายหญิงจะนอนพักประมาณ 30 นาที เพื่อให้อสุจิมีเวลาเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ และถือเป็นขั้นตอนที่ช่วยลดความวิตกกังวลและให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย หลังจากนั้นสามารถเดินทางกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักในวันที่ทำ IUI
หลังการทำ IUI ผ่านไปประมาณ 14 วัน ก็สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองที่บ้านหรือที่คลินิก หากตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่อไป
FAQs. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ IUI
1. อาการหลังทำ IUI มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
อาการหลังทำ IUI อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรง ดังนี้
- การติดเชื้อ (Infection): ผู้เข้ารับการรักษามีโอกาสติดเชื้อ แต่กรณีดังกล่าวแทบไม่เกิดขึ้น เพราะเครื่องมือทุกชิ้นและห้องปฏิบัติการ ถูกทำให้ปลอดเชื้อ
- ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกินขนาด (Ovarian Hyperstimulation Syndrome, OHSS): หรือภาวะที่รังไข่บวม อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เข้ารับการรักษาได้รับยากระตุ้น ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะท้องอืด, กดที่บริเวณท้องแล้วเจ็บ, คลื่นไส้อาเจียน และอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหากมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่รุนแรง อย่างไรก็ดีคลินิกที่ได้มาตรฐาน จะมีการตรวจติดตามการทำงานของรังไข่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ภาวะ OHSS จึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
- การตั้งครรภ์แฝด (Multiple Pregnancies): การใช้ยากระตุ้นไข่ อาจส่งผลให้ไข่โตมากกว่า 1 ฟอง และมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์มากกว่า 1 คนได้
การเลือกคลินิก IUI อย่างละเอียดรอบคอบจึงนับว่ามีความสำคัญ คลินิก IUI ที่ดีควรมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมและทันสมัย มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีทีมผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับ และมีประวัติความสำเร็จในหลากหลายเคสที่ผ่านมา
2. อัตราความสําเร็จการทำ IUI อยู่เท่าไหร่?
อัตราความสําเร็จการทำ IUI อยู่ที่ราว 10 – 15% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุฝ่ายหญิง สาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก และคุณภาพของอสุจิ อัตราความสําเร็จการทำ IUI มีแนวโน้มลดลงอย่างมากในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์อัตราความสำเร็จของ IUI ได้แม่นยำยิ่งขึ้น และช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า IUI เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับคุณหรือเปล่า
3. สามารถทำ IUI ได้กี่ครั้งจนกว่าจะเห็นผล?
การทำ IUI ติดต่อกันหลายรอบสามารถช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ แต่โดยทั่วไป เมื่อทำถึงรอบที่ 6 อัตราความสำเร็จก็จะเริ่มคงที่และไม่เพิ่มขึ้น ปกติแพทย์จะแนะนำให้ทำ 3-6 ครั้ง อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้รับการรักษา และสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
4. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังทำ IUI?
หลังทำ IUI ฝ่ายหญิงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา สามารถทำกิจกรรมและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้แพทย์อาจไม่แนะนำให้แช่น้ำในอ่างหรือว่ายน้ำ 2-3 วัน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยขั้นตอนสุดท้ายของการทำ IUI ก็คือการตรวจสอบการตั้งครรภ์
5. การทำ IUI ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
ราคาทำ IUI ของแต่ละคลินิกอาจมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้ถือว่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการรักษาชั้นสูงอื่นๆ เช่น การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หรือ ICSI
ปรึกษาเกี่ยวกับการทำ IUI ที่ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.
หากไม่แน่ใจว่าจะทำ IUI ที่ไหนดี? สามารถปรึกษาขอแนะนำเกี่ยวกับบริการทำ IUI ที่ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. หรือปรึกษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคุณ และช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้ได้มากที่สุด
ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2550 โดยการร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และเด็กหลอดแก้วในประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. เป็นคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่เพียบพร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ชำนาญเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproduction Technology – A.R.T.) พวกเรามีความมุ่งมั่นจะสานทุกความฝันในการมีบุตรของทุกครอบครัวให้สมบูรณ์
อ้างอิง
ข่าวสารและบทความอื่นๆ

