ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือเทคนิคช่วยการปฏิสนธิที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เราได้เรียนรู้ว่า IVF และ ICSI สามารถช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากของคู่รักหลายล้านคู่ได้อย่างไร, ทำความเข้าใจว่า ICSI คืออะไร, เมื่อไหร่ที่ควรใช้ ICSI, ตลอดจน ICSI มีกระบวนการอย่างไร (อ่านบทความแรกเกี่ยวกับ ICSI ของเราได้ ที่นี่)
ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนของ ICSI (อิ๊กซี่) กันอีกครั้ง แต่ในแบบฉบับที่ละเอียดยิ่งกว่าเดิมเพื่อช่วยให้ทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ ICSI มากขึ้น และเตรียมความพร้อมก่อนมาพบคุณหมอที่คลินิกของเรา จะมีรายละเอียดใดที่ควรรู้กันบ้าง มาเริ่มกันเลย
สรุปกันอีกครั้ง: ICSI แตกต่างจากการทำ IVF อย่างไร?
การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ที่มักเรียกกันโดยย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า IVF (In-vitro Fertilization) คือวิธีการที่ช่วยให้ ครอบครัวที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ สามารถมีบุตรได้ด้วยเทคโนโลยีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย วิธีนี้แพทย์จะนำไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกันให้การเกิดการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ เมื่อไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันจนกลายเป็น “ตัวอ่อน” และเจริญเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ แพทย์ก็จะย้ายตัวอ่อนดังกล่าวกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
กระบวนการ ICSI นั้น มีขั้นตอนกระตุ้นไข่ เหมือนกระบวนการ IVF ทุกประการยกเว้นขั้นตอนการปฏิสนธิ สำหรับวิธี IVF นั้น เซลล์ไข่และอสุจิจะถูกนำไปวางในจานเพาะเลี้ยง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันเองตามธรรมชาติ ส่วนวิธี ICSI แพทย์จะคัดเลือกสเปิร์มที่มีคุณภาพดีที่สุดหนึ่งตัว ฉีดเข้าไปในไข่โดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ การฉีดอสุจิเข้าไปโดยตรงนั้น จะช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่อสุจิเคลื่อนที่ไม่ดี หรือปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพไข่ของฝ่ายหญิง และยังช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากระดับรุนแรง หรือ เคยล้มเหลวจากกระบวนการ IVF มาตรฐาน
ขั้นตอนการทำ ICSI
1. เริ่มปรึกษาแพทย์ (Consultation)
2. ระยะกระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation Phase)
3. การเก็บไข่และเก็บน้ำเชื้ออสุจิ
1. เริ่มปรึกษาแพทย์ (Consultation)
เมื่อไหร่: เมื่อคุณสะดวกในการทำนัดหมาย ซึ่งจะเป็นช่วงไหนของเดือนก็ได้
ใช้เวลานานแค่ไหน: 45 – 60 นาที
เมื่อเริ่มกระบวนการ คุณ (ฝ่ายหญิง) จะได้รับการซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น การตรวจอัลตราซาวน์มดลูกและรังไข่ การตรวจฮอร์โมน และการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็น ส่วนฝ่ายชาย วิเคราะห์คุณภาพของ หลังจากนั้นแพทย์จะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
โดยในขั้นตอนนี้ แพทย์จะอธิบายผลการตรวจของคุณ รวมถึง ให้คำแนะนำและวิธีการเตรียมตัวก่อนเริ่มกระบวนการกระตุ้นไข่ต่อไป
2. ระยะกระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation Phase)
เมื่อไหร่: วันที่ 2 หรือ 3 ของรอบการมีประจำเดือน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 10 – 12 วัน
หลังจากได้รับการตรวจเบื้องต้น และเตรียมตัวก่อนเริ่มกระบวนการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การกระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation Phase) ซึ่งในขั้นตอนที่สำคัญนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องฉีดยาฮอร์โมนทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน เป็นเวลา 9-12 วัน เพื่อกระตุ้นฟองไข่ (follicle) ในรังไข่ให้โต โดยในร่างกายของเพศหญิงจะมีฟองไข่อยู่มากมาย ในแต่ละฟองจะมี “Oocyte” หรือเซลล์ไข่อยู่ภายใน โดยปกติในแต่ละรอบเดือน ฟองไข่และเซลล์ไข่จำนวนหนึ่งจะเจริญเติบโตและอาจจะมีเพียงหนึ่งในนั้นที่จะกลายเป็นไข่ที่โตเต็มวัย
เป้าหมายของขั้นตอนนี้ คือการกระตุ้นด้วยยาเพื่อให้ฟองไข่ที่พร้อมโตในรอบเดือนนั้นๆ โตขึ้นพร้อมกันหลายๆ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้ไข่โตจำนวนมากที่สุด ในขั้นตอนการเก็บไข่ (egg retrieval)
ในระหว่างนี้ แพทย์จะติดตามการตอบสนองของรังไข่ นัดให้คุณมาตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ที่คลินิกทุก ๆ 3-4 วัน แพทย์อาจปรับการรักษาและการใช้ยาฮอร์โมนตามความเหมาะสม ใช้เวลาในการฉีดยาประมาณ 9-12 วัน และเมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นการตกไข่ (trigger shot) ที่เป็นฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) หรือ leuprolide acetate (Lupron) เพื่อช่วยให้ไข่สุกและหลุดออกจากผนังของฟองไข่พร้อมสำหรับการเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป
3. การเก็บไข่และเก็บน้ำเชื้ออสุจิ
เมื่อไหร่: 36 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก
ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง
หลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก 36 ชั่วโมง จะเริ่มกระบวนการเก็บไข่ โดยอัลตราซาวนด์เพื่อหาฟองไข่ และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอดเข้าไปในฟองไข่และดูดเก็บไข่ออกมา โดยตลอดการทำหัตการนี้ คุณจะถูกวางยาสลบ และไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
ในวันเดียวกับวันเก็บไข่ คู่สมรสของคุณก็มาเก็บน้ำเชื้อ โดยปกติแล้วแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิในวันเดียวกับวันที่ฝ่ายหญิงมาเก็บไข่ที่คลินิก หากฝ่ายชายไม่สะดวกในวันดังกล่าว ก็สามารถมาเก็บอสุจิไว้ก่อนล่วงหน้า และแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ และนำมาละลายใช้ในวันเก็บไข่
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวอื่นๆ จากฝ่ายหญิง (เช่น น้ำลาย น้ำหล่อลื่นช่องคลอด) ที่อาจมีแบคทีเรียปะปนอยู่ และอาจส่งผลต่อการปฏิสนธิ (fertilization) หรือการเพาะเลี้ยง แพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บน้ำเชื้อด้วยการช่วยตัวเอง และหลังจากที่ฝ่ายชายเก็บน้ำอสุจิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งน้ำเชื้อให้นักวิทยาศาสตร์ที่รออยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมน้ำอสุจิต่อไป
นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจิ มาพักไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้น้ำอสุจิละลายตัวให้เหลวก่อน จากนั้นจะทำการปั่นล้างเพื่อเอาอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหวและเศษเซลล์ต่าง ๆ ในน้ำอสุจิออกและทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยตัดสินว่าจะทำเด็กหลอดแก้วควรใช้วิธีปฏิสนธิด้วยวิธี IVF หรือ ICSI หากผลตรวจของน้ำอสุจิเป็นปกติทั้งจำนวน ตัววิ่งดี ถึงจะทำ IVF แต่หากผลตรวจของน้ำอสุจิมีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิได้มากขึ้น
สำหรับการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF อสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง ส่วนวิธี ICSI นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่ที่โตเต็มวัยโดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ วิธี ICSI นี้ใช้เวลานานกว่าวิธี IVF และต้องทำโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ
4. การปฏิสนธิแบบ ICSI
เมื่อไหร่: หลังการเก็บไข่และอสุจิ
ใช้เวลานานแค่ไหน: 24 ชั่วโมง
ในกรณีที่ควรใช้ ICSI เป็นวิธีช่วยปฏิสนธิ นักวิทยาศาสตร์ก็จะคัดเลือกตัวอสุจิที่มีคุณภาพดีที่สุด ฉีดเข้าไปในไข่แต่ละใบที่โตเต็มที่แล้ว แทนการปล่อยให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิกันเองในจานทดลองตามกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF แบบปกติ เมื่อฉีดเสร็จเรียบร้อยแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะตรวจว่ามีการปฏิสนธิหรือไม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งไข่ที่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้วก็จะเรียกว่า “ตัวอ่อน”
5. การเลี้ยงตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังจากปฏิสนธิ
ใช้เวลานานแค่ไหน: 5-6 วัน
หลังจากที่ไข่และอสุจิปฏิสนธิจนกลายเป็น ‘ตัวอ่อน’ แล้ว ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 5 – 6 วัน จนพัฒนาและเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ พร้อมที่จะย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก สำหรับตัวอ่อนที่ไม่สามารถเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์นั้น โดยทั่วไปถือว่าเป็นตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรง โอกาสฝังตัวในมดลูกน้อย จึงไม่ควรนำมาย้ายกลับไปสู่โพรงมดลูก กระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนมาก ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) ที่มีความชำนาญการในการใช้อุปกรณ์เทคนิคขั้นสูง เพื่อจัดการสภาพแวดล้อมภายในห้องปฏิบัติการให้เหมาะแก่การเติบโตของตัวอ่อน
ที่ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. เราใช้ตู้เลี้ยงตัวอ่อน GERI-Time-Lapse Incubator ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยตัวอ่อนแต่ละตัวจะถูกแยกเลี้ยงในแต่ละห้อง ที่ติดตั้งระบบกล้องถ่ายภาพจุลทรรศน์คุณภาพสูง ช่วยให้สามารถติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องขยับจานเพาะเลี้ยงหรือตัวอ่อนเลย แต่ละจานเพาะเลี้ยงเป็นอิสระแยกขาดจากกัน ทำให้สามารถควบคุมและปรับสภาวะแวดล้อมของการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมกับตัวอ่อนแต่ละตัวได้ การใช้ตู้เลี้ยงระบบแยกเลี้ยงนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์เนื่องจากตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่คงที่ไม่ถูกรบกวน สำหรับข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของเรา คลิกที่นี่
6. การย้ายตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังกระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 2-4 ชั่วโมง
ในขั้นตอนสุดท้าย แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) จะเลือกตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่คุณภาพดี เพื่อย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของคุณให้พัฒนาเป็นทารกต่อไป
ในขั้นตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนผู้ชำนาญการ จะใส่ตัวอ่อนลงในท่อขนาดเล็กที่เรียกว่าสายย้ายตัวอ่อน จากนั้นแพทย์จะสอดสายดังกล่าวเข้าทางปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และปล่อยตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและเริ่มเจริญเติบโต
หลังจากนั้น 7-10 วันหลังจากการย้ายตัวอ่อน จะทำการทดสอบการตั้งครรภ์ และสามารถมาตรวจอัลตราซาวด์ได้ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมาเพื่อยืนยันถึงการตั้งครรภ์
7. การแช่แข็งตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังจากกระบวนการย้ายตัวอ่อน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง
ตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ทำการย้ายตัวอ่อน สามารถแช่แข็งเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ ด้วยวิธีการแช่แข็งตัวอ่อนแบบผลึกแก้วที่เรียกว่า ‘Vitrification’ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ตัวอ่อนจะถูกแช่แข็งโดยการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง (ice crystals) ในเซลล์ตัวอ่อน ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายของตัวอ่อน ตัวอ่อนของคุณจะถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง หากเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูงที่ได้รับการควบคุมและติดตามปริมาณไนโตรเจนเหลว ตลอดจนตรวจเช็คความสมบูรณ์ของอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ตัวอ่อนที่แช่แข็งเหล่านี้สามารถนำมาละลายใช้ได้เมื่อคุณต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนของเรา คลิกที่นี่