ข่าวสารและบทความ

การทำ ICSI คืออะไร? อีกหนึ่งวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่ได้ผล

การทำ ICSI คือ เทคนิคการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่มักถูกใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว เทคนิคนี้แตกต่างจากการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF ตรงที่การนำอสุจิและไข่มาปฏิสนธิกันโดยตรง ถือเป็นเทคนิคเสริมของการรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ที่สามารถช่วยคนไข้ที่ประสบปัญหามีบุตรยากให้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายล้านคนทั่วโลก มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทําอิ๊กซี่ (ICSI) ว่ากรณีใดบ้างที่ควรใช้เทคนิคนี้ เพื่อให้ (ว่าที่) คุณพ่อคุณแม่ได้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำ ICSI คืออะไร? การทํา IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไรบ้าง?

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF ย่อมาจาก In Vitro Fertilization คือ เทคนิคที่ช่วยรักษาคนไข้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ การทำเด็กหลอดแก้วช่วยให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยผ่านการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการและย้ายตัวอ่อนที่คุณภาพดีกลับสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI ย่อมาจาก Intracytoplasmic Sperm Injection มีกระบวนการเหมือนการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF แตกต่างกันตรงขั้นตอนการปฏิสนธิ โดยวิธีการทำ ICSI จะคัดเลือกอสุจิที่คุณภาพดีหนึ่งตัว ฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิแทนการปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เองตามวิธี IVF

หากถามว่า การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF กับ ICSI อันไหนดีกว่ากัน สรุปได้ดังนี้

ICSI มักใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากความผิดปกติของเพศชายระดับรุนแรงเกินกว่าจะรักษาโดยเทคนิค IVF ดังนั้น ICSI คือวิธีการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่า IVF นั่นเอง

การทำ ICSI เหมาะกับใคร แพทย์มักใช้ในกรณีใดบ้าง?

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) มักใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหา ดังต่อไปนี้

  • อสุจิของฝ่ายชาย มีรูปร่างผิดปกติกว่าเกณฑ์
  • ภาวะอสุจิเคลื่อนไหวช้า
  • มีจำนวนอสุจิน้อย
  • ท่อนำอสุจิอุดตัน ทำให้ไม่มีตัวอสุจิหลั่งออกมาได้
  • ผู้ป่วยที่รักษาด้วยเทคนิค IVF แล้วได้ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิน้อย
  • กรณีละลายไข่แช่แข็ง มาผสมกับอสุจิ
  • ฝ่ายชายมีภาวะ DNA ในอสุจิแตกหัก (DNA fragmentation) สูงกว่าเกณฑ์
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว และจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมในตัวอ่อนการย้ายกลับสู่โพรงมดลูก (Preimplantation Genetic Testing, PGT)

จากภาวะที่กล่าวมาข้างต้น การรักษาด้วยเทคนิค IVF จะได้ผลการรักษาที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับ ICSI  ส่วนกรณีที่ต้องทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรม (PGT) จำเป็นต้องใช้เทคนิค อิ๊กซี่ (ICSI) เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของ DNA

ขั้นตอนการทำ ICSI ทำอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนจบ

สำหรับคู่สมรสที่กำลังวางแผนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ การทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอนการทำ ICSI อย่างละเอียด ช่วยให้เกิดความมั่นใจ คลายความวิตกกังวล และได้เตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการรักษา มีส่วนช่วยให้กระบวนการรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วย

1. การกระตุ้นไข่

กระบวนการทำ ICSI เริ่มในวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน แพทย์จะนัดพบฝ่ายหญิงเพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ หากอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะเริ่มกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงด้วยการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน เป็นเวลา 10-14 วัน ระหว่างนี้จะมีการตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ เป็นระยะ ทุก 3-4 วัน เพื่อติดตามการเติบโตของฟองไข่ เมื่อฟองไข่โตถึงขนาดที่เหมาะสมแล้ว จึงฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก (Trigger Shot) และ 36 ชั่วโมงหลังฉีดยา Trigger Shot จึงเริ่มกระบวนการเก็บไข่

2. การเก็บไข่และอสุจิ

หลายคนอาจกัลวลว่า เก็บไข่เจ็บไหม? 36 ชั่วโมง หลังฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก แพทย์จะเริ่มกระบวนการเก็บไข่ด้วยการวางยาสลบ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะรู้สึกเจ็บ จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านช่องคลอดและดูดไข่ออกมา โดยในระหว่างการเก็บไข่ แพทย์จะทำอัลตราซาวน์ในเวลาเดียวกัน

ในวันเก็บไข่ ฝ่ายชายจะเก็บอสุจิเช่นเดียวกัน เว้นแต่กรณีใช้อสุจิแช่แข็ง หลังจากนั้นอสุจิจะถูกปั่นล้างให้พร้อมสำหรับกระบวนการ ICSI หลังกระบวนการเก็บไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง

3. การทำอิ๊กซี่ (ICSI) หรือ ฉีดอสุจิที่คัดแล้วเข้าสู่ไข่

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเก็บไข่และอสุจิ นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลือกอสุจิผ่านกล้องจุลทรรศน์ โดยคัดอสุจิที่มีรูปร่างปกติและเคลื่อนไหวเร็ว และทำการฉีดอสุจิเข้าสู่ไข่ทีละใบด้วยเข็มขนาดเล็ก วันรุ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์จะตรวจสอบว่าไข่และอสุจิปฏิสนธิกันเป็นตัวอ่อนหรือไม่

4. การเลี้ยงตัวอ่อน

ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ 5-6 วัน จนเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ หลังจากนั้นตัวอ่อนที่แข็งแรงและคุณภาพดี จะถูกย้ายกลับสู่โพรงมดลูก หรือถูกนำไปแช่แข็งไว้เตรียมย้ายในรอบอื่นๆ

5. การย้ายตัวอ่อน

หลังเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสต์ ตัวอ่อนที่คุณภาพดีจะได้รับการย้ายกลับสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง การย้ายตัวอ่อนเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บ แพทย์จะสอดสายย้ายตัวอ่อนเข้าไปผ่านช่องคลอดและปากมดลูกจนถึงโพรงมดลูก ควบคู่กับการใช้อัลตราซาวด์ช่วยนำทางปลายสายให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในโพรงมดลูก ก่อนที่จะฉีดตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวตรงตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อทำการย้ายเสร็จสิ้น ตัวอ่อนจะเริ่มฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโต หลังการย้ายตัวอ่อน 7-10 วัน สามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์อีกครั้งเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์

FAQs. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ ICSI

1. การทำอิ๊กซี่ (ICSI) สำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์?

การทำอิ๊กซี่ (ICSI) มีอัตราความสำเร็จประมาณ 70% ซึ่งไม่ต่างกับอัตราปฏิสนธิของตัวอ่อนจากการทำด้วยวิธี IVF ส่วนอัตราการตั้งครรภ์จากการทำ IVF และ ICSI ใกล้เคียงกันราว 40 – 70% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ, สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก, และปัจจัยภาวะการมีบุตรอื่นๆ การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยประเมินอัตราความสำเร็จของ ICSI ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

2. การทำอิ๊กซี่ (ICSI) มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว ICSI เป็นกระบวนการรักษาที่มีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามทุกการรักษาทางการแพทย์มีโอกาสเกิดความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงที่พบได้จากกระบวนการ ICSI ได้แก่

  • ไข่เสียหาย

ด้วยลักษณะของไข่ที่มีความเปราะบาง ไข่อาจเกิดความเสียหายจากการใช้เข็มสอดเข้าไปในเนื้อไข่จากการทำ ICSI ดังนั้นการเลือกคลินิกที่มีนักวิทยศาสตร์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียหายของไข่จากการทำ ICSI

  • ความผิดปกติของโครโมโซม, ภาวะออทิสติก, ภาวะความผิดปกติทางสติปัญญา และความผิดปกติโดยกำเนิด

ข้อมูลจากงานวิจัยบางงาน พบว่าการรักษาด้วยวิธี ICSI อาจสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิค IVF และการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ

  • การตั้งครรภ์แฝด

อัตราการตั้งครรภ์แฝด จาก ICSI และตั้งครรภ์ธรรมชาตินั้นไม่ต่างกัน แต่การตั้งครรภ์แฝดย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนตัวอ่อนที่ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝด (แฝดสอง, แฝดสาม ฯลฯ) แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับเพียงแค่ตัวเดียว

  • ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS)

ภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อยากระตุ้นมากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืด, กดเจ็บที่บริเวณช่องท้อง, มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจมีอาการรุนแรงได้หากไม่ได้ดูแล อย่างไรก็ดีคลินิกที่ได้มาตรฐานจะมีการตรวจติดตามการตอบสนองของรังไข่และปรับยาตามความเหมาะสม เพื่อลดโอกาสเกิด OHSS ให้น้อยที่สุด

3. วางแผนทํา ICSI ที่ไหนดี ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

ความพิถีพิถันในการเลือกคลินิกที่ให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว IVF-ICSI นับว่ามีความสำคัญมาก คลินิก ICSI ที่ดีควรมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและครบครัน มีห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีทีมงานผู้ชำนาญการที่น่าเชื่อถือ และมีอัตราความสำเร็จที่น่าพอใจตลอดมา

อ้างอิง

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

Lab และ Technology ปัจจัยสำคัญที่ห้ามมองข้ามในการเลือกทำ ICSI

เนื่องจากการทำ ICSI เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ห้องปฏิบัติการ (Lab) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

21 มี.ค. วันดาวน์ซินโดรมโลก

21 มี.ค. ของทุกปี เป็น “วันดาวน์ซินโดรมโลก” (World Down Syndrome Day) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มอาการดาวน์

🔬นักวิทย์ 💬 อยากเล่า : Geri® Time Lapse Incubator พี่เลี้ยงตัวตึงของน้องๆ ตัวอ่อน

นักวิทย์ อยากเล่า : Geri® Time Lapse Incubator พี่เลี้ยงคนสำคัญของน้องๆ ตัวอ่อนเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ติดตามพัฒนาการตัวอ่อนได้แบบเรียลไทม์