ข่าวสารและบทความ

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.53 ❝ Egg Freezing ฝากไข่ ทางเลือกสาวยุคใหม่ มีลูกได้เมื่อพร้อม ❞


คุณเอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน เป็นหนึ่งในสาวโสดที่มาฝากไข่ที่คลินิก Superior A.R.T. ซึ่งหลังจากที่คุณเอ๋ได้ฝากไข่กับคุณหมอนิศารัตน์ ที่ Superior A.R.T. ก็มีคนถามคุณเอ๋มากมายเกี่ยวกับ Egg Freezing หรือการฝากไข่ ไม่ว่าจะเป็น การฝากไข่คืออะไร ทำไมต้องมีการฝากไข่ และสามารถฝากไข่ได้นานแค่ไหน

วันนี้คุณหมอนิ-นิศารัตน์ สุนทราภา สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และภาวะการมีบุตรยากที่คลินิค Superior A.R.T. จะมาตอบข้อสงสัยให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ 👩🏻‍⚕️💬


6:41 การฝากไข่คืออะไร?

ในทุกๆ เดือน จะมีไข่ในรังไข่จำนวนหนึ่งของผู้หญิงโตขึ้นมา แต่จะมีแค่ใบเดียวจากกลุ่มไข่นี้ ที่จะโตได้ขนาดที่เหมาะสมและเกิดการตกไข่ ส่วนไข่ใบอื่นๆที่โตไม่ดี ก็จะฝ่อสลายไป การฝากไข่ ก็คือ การเก็บไข่ทั้งหมดที่จะรอโตขึ้นมาของรอบเดือนนั้นๆ มาแช่แข็งเอาไว้ แทนที่จะปล่อยให้ฝ่อไปเฉยๆ หากในอนาคต มีปัญหาเรื่องมีลูกยาก ก็สามารถใช้ไข่ที่แช่แข็งเอาไว้ นำมาละลายและผสมกับอสุจิของสามี ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งไข่ที่แช่แข็งไว้ตอนที่อายุน้อยจะมีคุณภาพและโครโมโซมที่ปกติมากกว่าตอนที่อายุมากขึ้น ช่วยลดปัญหามีบุตรยากจากอายุฝ่ายหญิงได้

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น การเก็บไข่คือการนำไข่ที่จะโตในรอบเดือนนั้นมาใช้ เมื่อจะเริ่มกระตุ้น จะมีการทำอัลตราซาวด์ในวันที่ 2 ของรอบเดือน ซึ่งจะเห็นฟองไข่ฟองเล็กหลายๆ ฟอง สมมติว่าเห็นอยู่ 20 ใบ ก็จะกระตุ้นให้ไข่ 20 ใบนั้นโตขึ้นมา แล้วก็เก็บไข่ทั้งหมด 20 ใบนั้นมาแช่แข็ง ซึ่งเราไม่ได้นำไข่จากอนาคตมาใช้ เป็นเพียงไข่มีอยู่แล้วในรอบเดือนนั้น แทนที่จะปล่อยให้ไข่ตกไปก็นำมาเก็บไว้ หากไม่ได้ทำอะไรเลยในรอบนั้น ไข่ 20 ใบ จะมี 1 ใบที่โต แล้วก็ตกตามธรรมชาติ แต่อีก 19 ใบก็จะฝ่อหายไป

9:28 อายุเท่าไรที่เหมาะกับการฝากไข่?

ไข่ถูกสร้างขึ้นมาครั้งเดียว ตั้งแต่ตอนที่เรายังอยู่ในท้องของแม่ มีมากหลักล้านฟอง หลังจากนั้น ไข่จำนวนนี้จะค่อยๆ ฝ่อสลายหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงที่มีประจำเดือนครั้งแรก ไข่จะลดลงเหลือหลักแสนฟอง แม้จะดูเป็นจำนวนที่เยอะ แต่มันจะค่อยๆ สลายไปเรื่อยๆ และไม่มีการสร้างใหม่เหมือนอสุจิของฝ่ายชาย เพราะฉะนั้น เมื่อผู้หญิงอายุเยอะขึ้น โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็จะยากขึ้น เพราะจำนวนไข่ลดลงไปเรื่อยๆ และโครโมโซมของไข่ก็จะผิดปกติมากขึ้นด้วย

ดังนั้น ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการฝากไข่จะคำนึงถึงความเหมาะสม โดยดูจากจำนวนไข่ต่อรอบการกระตุ้นที่ได้ปริมาณเหมาะสม บวกกับคุณภาพของไข่ที่เก็บได้ ระยะเวลาที่จะต้องแช่แข็งไข่ก่อนเอามาใช้จริง รวมถึงโอกาสที่จะได้เอาไข่ที่แช่แข็งไว้มาใช้ด้วย

ตามทฤษฏีแล้ว ยิ่งอายุน้อยเท่าไร จำนวนไข่ที่เก็บได้ก็จะเยอะ และโอกาสที่ไข่จะมีโครโมโซมปกติก็จะสูงกว่าตอนที่อายุเยอะ

แต่หากอายุ 25 ปี แล้วมาเก็บไข่ก็อาจจะเร็วไป เพราะถ้าแต่งงานตอนอายุ 30 ปี (อายุยังไม่เยอะ) โอกาสท้องเองตามธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้ามาแช่แข็งไข่ไว้ ก็อาจจะไม่ได้ใช้ไข่ที่แช่ไว้ก็ได้ ดังนั้น อายุที่เหมาะสมในการเก็บไข่คือ ช่วงอายุประมาณ 30-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังมีจำนวนไข่ที่กระตุ้นได้ปริมาณดี และโครโมโซมของไข่ที่ปกติยังเยอะอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้จะฝากไข่ไว้แล้ว หากคุณแม่ยังอายุไม่เยอะเกินไป คุณหมอก็ยังแนะนำให้ลองท้องเองตามธรรมชาติก่อน หากไม่สำเร็จ ก็ค่อยพิจารณาเอาไข่ที่แช่แข็งไว้มาใช้

ดังนั้น การฝากไข่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดโอกาสที่จะมีปัญหามีลูกยากในอนาคต จากอายุที่เพิ่มขึ้นเมื่อตอนที่พร้อมมีลูก ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าเก็บไข่ตอนอายุ 35 ปี ไข่ก็จะมีคุณภาพ มีเปอร์เซ็นต์ของโครโมโซมเหมือนตอนอายุ 35 แม้ว่าจะละลายออกมาใช้ตอนอายุ 40 ก็ตาม

12:46 ฝากไข่มีข้อเสียหรือไม่ ทำให้ไข่หมดเร็วขึ้น หมดประจำเดือนก่อนวัยหรือเข้าสู่วัยทองเร็วขึ้นหรือไม่?

ถ้าไม่ได้เก็บไข่หลายๆ รอบ ไม่มีผลทำให้เข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ แต่ถ้ากระตุ้นและเก็บไข่หลายๆ รอบ เช่น 5-6 รอบขึ้นไป แล้วในแต่ละครั้งได้ไข่เยอะมาก อาจจะส่งผลได้ เพราะตอนเก็บไข่ เข็มที่ใช้เก็บไข่อาจจะโดนไข่ฟองเล็กมากๆ ที่เรามองไม่เห็น ถ้าเก็บแค่ 1-2 รอบไม่ได้มีผลแต่ถ้าหลายรอบๆก็อาจ ทำให้มีโอกาสเข้าสู่วัยทองเร็วขึ้นได้

นอกจากนี้ การฝากไข่อาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างกระตุ้นไข่ อาจจะทำมีอาการคัดตึงเต้านม มีอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น ท้องอืด น้ำหนักขึ้นเล็กน้อย เพิ่มความอยากอาหาร และในระหว่างเก็บไข่ ในบางเคสอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เพราะตอนเก็บไข่ คุณหมอจะทำอัลตราซาวด์ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าจะแทงเข็มเก็บไข่ไปที่ไข่โดยตรงไม่ไปโดนอวัยวะอื่นๆ หลังเก็บไข่อาจจะมีประจำเดือนผิดปกติได้ ประมาณ 1-2 รอบ หลังจากนั้นรอบเดือนจะกลับมาปกติได้เอง

15:39 ก่อนเริ่มฝากไข่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ในเคสของคุณเอ๋ คุณหมอให้ทานวิตามินล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ทั้ง CoQ10 และวิตามินรวมสำหรับคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานโปรตีนมากขึ้น  เพื่อเตรียมตัวให้สารอาหารครบ

นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำให้ปรับไลฟ์สไตล์ เช่น นอนก่อน 5 ทุ่ม แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่ช่วง 5 ทุ่ม-ตี 1 เป็นช่วงที่ร่างกายหลั่ง Growth Hormone ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งจำนวนและคุณภาพของไข่ เพราะฉะนั้นการนอนในช่วงเวลานี้จึงได้ประโยชน์ แม้ว่าจะนอนเลทไปกว่านี้ แต่จำนวนชั่วโมงรวมแล้วได้ 6-8 ชั่วโมง ก็ไม่ดีเท่านอนช่วง 5 ทุ่ม-ตี 1 รวมถึงควรลดแป้ง น้ำตาล และควบคุมน้ำหนัก บวกกับกินวิตามิน ก็อาจจะช่วยเรื่องคุณภาพของไข่ได้

17:20 กระบวนการฝากไข่มีระยะเวลานานแค่ไหน?

กระบวนการฝากไข่ จะเริ่มตั้งแต่การกระตุ้นไข่ เก็บไข่ และแช่แข็งไข่ ซึ่งคุณหมอแนะนำให้เข้ามาปรึกษาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรเตรียมตัวอย่างไร อย่างคุณเอ๋ก็กินวิตามินก่อนล่วงหน้า มีการปรับไลฟ์สไตล์ต่างๆ เพื่อให้ได้คุณภาพของไข่และจำนวนที่ดีที่สุด เมื่อถึงรอบที่จะกระตุ้น ประจำเดือนมาวันที่ 2 ของรอบเดือน คุณหมอจะนัดมาอัลตราซาวด์และเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน ถ้าทุกอย่างดีก็จะเริ่มฉีดยากระตุ้นให้ไข่โตประมาณ 4-5 วัน ก็จะนัดมาตรวจซ้ำว่ามีการตอบสนองดีหรือไม่ และปรับยาตามความเหมาะสม หลังจากนั้นก็ฉีดต่อจนกระทั่งไข่โตเต็มที่ ซึ่งใช้เวลาฉีดประมาณ 8-12 วัน ก่อนที่จะเก็บไข่

18:45 ในช่วงกระตุ้นไข่ ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

สำหรับคุณเอ๋นั้นรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าท้องโตแน่นขึ้น เกิดจากที่มีไข่เยอะและตอบสนองต่อยาได้ดี รวมถึงรู้สึกหงุดหงิดและเหวี่ยงเล็กน้อย แต่รู้สึกว่าผิวสวยขึ้น เปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลขึ้น

คุณหมอจึงเล่าว่า จริงๆ แล้วฮอร์โมนที่ใช้ก็คล้ายกับการกินยาคุมกำเนิด เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และที่รู้สึกอึดอัดหน้าท้องก็เป็นผลมาจากไข่ที่ใหญ่ขึ้น เหมือนมีลูกบอลเล็กๆ 2 ลูก ใส่เข้าไปในท้อง หากบางคนเซนซิทีฟมากอาจจะบวมน้ำและอยากอาหารเพิ่มขึ้นนิดหน่อย

นอกจากนี้ คุณเอ๋ยังชอบออกกำลังกายเป็นประจำ แต่คุณหมอแนะนำให้หยุดออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายหนักๆ เพราะเมื่อไข่เริ่มโตขึ้น เมื่อออกกำลังกายไข่อาจจะบิดขั้ว เลือดไปเลี้ยงไข่ไม่พอ จะทำให้เกิดอาหารปวดท้องรุนแรงได้ แต่หากออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินลู่ ก็อาจจะพอทำได้ และหลังจากนั้นจะมีการฉีดกระตุ้นไข่วันละเข็ม ซึ่งจะต้องกระตุ้นซ้ายและขวาสลับกันไปเรื่อยๆ โดยจะใช้เข็มที่มีลักษณะสั้น บาง และคม ซึ่งถูกออกแบบมาให้คนไข้สามารถฉีดเองได้

21:30 กระบวนการเก็บไข่มีอะไรบ้าง?

เมื่อเข้าห้องผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาสลบให้คนไข้หลับก่อน หลังจากนั้นคุณหมอจะทำอัลตราซาวด์สอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งจะติดเข็มเข้าไปด้วย และจะใช้เข็มเจาะผ่านผนังช่องคลอดเข้าไปในฟองไข่จนเก็บไข่ได้ ปกติแล้วจะมีไข่ที่โตอยู่หลายใบ คุณหมอจะอัลตราวซาวด์ไกด์เพื่อขยับเข็มไปเรื่อยๆ และเจาะเข้าไปเก็บให้ครบ เห็นใบที่ใหญ่กี่ใบก็จะเจาะดูดเอาไข่ออกมาให้หมด โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที หลังจากนั้นก็ให้คนไข้นอนพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการประมาณ 2 ชั่วโมง และกลับบ้านได้

23:16 หลังจากเก็บไข่ไปแล้ว ไข่จะไปอยู่ที่ไหน?

หลังจากที่คุณหมอเจาะเก็บไข่แล้วจะส่งให้นักวิทย์ในห้องแล็บตัวอ่อนที่จะมีหน้าต่างติดกับห้องผ่าตัด เพื่อนำมาหาไข่ที่ตู้ควบคุมอุณหภูมิและแก๊สให้เหมาะสมเหมือนกับในท้องของคุณแม่ หลังจากเจอไข่แล้วก็จะเลี้ยงไว้อีกตู้หนึ่งประมาณ 3 ชั่วโมง ถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งไข่

ไข่จะถูกจะเก็บแช่แข็งไว้ในห้อง Cryo Storage Room โดยที่ Superior A.R.T. จะมีแทงค์ทั้งหมด 37 แทงค์ โดยแต่ละแทงค์ละมีแถบ Label เพื่อที่จะได้รู้ว่าเป็นไข่ของใคร โดยจะควบคุมอุณหภูมิ เพื่อที่จะเก็บรักษาไข่ไว้ให้คงคุณภาพเดิมได้อย่างยาวนาน ในเคสที่คนไข้มีการติดเชื้อ เช่น ตับอักเสบบี จะมีการแยกแทงค์ เพื่อไม่ให้ไปปนเปื้อนกับคนที่ไม่มีปัญหาอะไร ภายในแทงค์จะมี Liquid Nitrogen ซึ่งเมื่อเปิดก็จะเห็นเป็นไอขึ้นมา ซึ่งในนั้นจะมีก้านเพื่อใช้ดึงขึ้นมาดูแต่ละหลอดแช่แข็งได้  ถ้าเป็นตัวอ่อนจะแช่แข็ง 1 ตัวอ่อนต่อหลอด หากเป็นไข่จะแช่แข็งไข่ 3 ใบ ต่อหลอด

อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการสลับหลอดกัน เพราะคนไข้จะใส่สายรัดข้อมือที่มีชื่อและมี QR Code อยู่ พยาบาลจะถามชื่อคนไข้เพื่อยืนยันว่าตรงกับชื่อที่สายรัดข้อมือหรือไม่ และก่อนเข้าห้องผ่าตัดก็จะให้เช็คชื่ออีกหนึ่งรอบ เมื่อคนไข้ขึ้นไปนอนบนเตียงจะมีเครื่องอ่าน QR Code ซึ่งทางแล็บได้บันทึกชื่อคนไข้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะยิง QR Code กับหลอดที่ใช้เก็บไข่ และมาสแกนเพื่อคอนเฟิร์มที่สายรัดข้อมือคนไข้อีกครั้ง หากไม่ตรงกัน จะไม่สามารถทำอะไรต่อได้เลย เพราะจะถูกล็อค ทั้งหมดนี้คือ Gidget เป็นเทคโนโลยีที่ Superior A.R.T. นำมาใช้เพื่อระบุตัวตนคนไข้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อป้องกันการเก็บไข่ผิดคน

27:24 สามารถแช่แข็งไข่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?

คนไข้สามารถเก็บไข่ได้นานเท่าที่อยากจะเก็บ ไม่มีหมดอายุ โดยนักวิทย์จะคอยตรวจเช็คว่าปริมาณของ Liquid Nitrogen ในแทงค์ว่าพร่องไปหรือไม่ โดยจะมีการเติมเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการรักษาอุณหภูมิ -196 องศาไว้ตลอดเวลา

โดย Superior A.R.T. เคยนำไข่ที่คนไข้แช่แข็งไว้นานที่สุดประมาณ 6-7 ปีมาละลายใช้ ซึ่งคนไข้ได้แช่แข็งไข่ไว้ตอนอายุ 38 ปีและมาใช้ตอนอายุ 44-45 ปี

29:26 หากต้องการนำไข่มาใช้ สามารถทำได้อย่างไร?

ในปัจจุบันหากต้องการทำเด็กหลอดแก้ว ตามกฎหมายไทยจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสก่อน  เมื่อต้องการจะใช้ไข่ คู่สมรสสามารถเข้ามารับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยฝ่ายชายจะตรวจคุณภาพอสุจิ เจาะเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย กรุ๊ปเลือด หากทุกอย่างปกติดีไม่มีปัญหา ก็เก็บอสุจิและละลายไข่เพื่อปฏิสนธิต่อไป

หลังจากที่ละลายไข่แล้ว จะมีการประเมินว่า ไข่กลับมามีชีวิตหรือกลับมาใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยคลินิก Superior A.R.T. มีอัตราความสำเร็จในการนำไข่แช่แข็งกลับมาใช้สูงถึง 95-98% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการแช่แข็งไช่ที่ดีขึ้น ซึ่งในอดีต ตัวเลขจะอยู่ที่ราวๆ 85%

หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI โดยการเลือกอสุจิตัวที่ดี ฉีดเข้าไปในไข่ เมื่อไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันสำเร็จ เป็นตัวอ่อน ก็จะเลี้ยงตัวอ่อนต่อในตู้เลี้ยงตัวอ่อน ประมาณ 5-6 วัน ก่อนจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปสู่โพรงมดลูกของคุณแม่ ในกรณีที่ต้องตรวจโครโมโซมตัวอ่อน นักวิทยาศาสตร์ก็จะดูดเซลล์ส่วนที่จะเจริญกลายเป็นรกบางส่วนของตัวอ่อนไปตรวจ และแช่แข็งตัวอ่อนไว้ เมื่อรู้ผลตรวจโครโมโซมว่าตัวอ่อนตัวนี้ปกติ ก็จะเตรียมย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกต่อไป

การตรวจโครโมโซมช่วยเลือกตัวอ่อนที่ดีมาย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกแม่ ลดความเสี่ยงของการแท้งจากการที่เด็กมีโครโมโซมผิดปกติ ลดโรคที่เกิดจากจำนวนแท่งโครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม และเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น  

แต่หากครอบครัวไหนมีประวัติโรคพันธุกรรมที่ถ่ายทอดในครอบครัว นอกจากตรวจโครโมโซมแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการตรวจยีนส์เพื่อคัดกรองโรคพันธุกรรมนั้นๆ ด้วย

32:17 หากสนใจอยากฝากไข่ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เริ่มจากปรึกษาคุณหมอก่อน ว่าอายุตอนนี้เหมาะสมที่จะแช่แข็งไข่หรือยัง สามารถรอได้ไหม บางคนอายุยังน้อยแต่จำนวนไข่ที่เหลืออยู่น้อยมาก เช่น อายุ 27-28 ปี แต่ไข่เหลือน้อย ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ควรจะฝากไข่เร็วกว่าคนในอายุช่วงเดียวกัน ถ้ายังไม่มีแผนจะแต่งงานมีลูกเร็วๆนี้ เวลามาตรวจ คุณหมอจะตรวจอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ จำนวนไข่ในรังไข่มากน้อยขนาดไหน มีเนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่ที่จำเป็นต้องรับการรักษาก่อนไหม และให้คำแนะนำการเตรียมตัวก่อนมาเริ่มกระตุ้นไข่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัว ทานวิตามิน เมื่อพร้อมก็เริ่มกระบวนการรักษาได้  

33:10 วิตามินที่แนะนำให้กินในช่วงเตรียมตัว มีอะไรบ้าง?

หากไม่ได้มีปัญหาเรื่องไข่หรือจำนวนไข่ที่น้อยมาก ก็สามารถทานวิตามินรวมสำหรับคนท้อง และ CoQ10 ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ ในกรณีคนไข้ที่มีลูกยากอาจจะเพิ่ม Astaxanthin วิตามินซี และวิตามินอี หากจำนวนไข่น้อยมากๆ อาจจะให้กิน DHEA ควบคู่กันไป รวมถึงการทานโปรตีนเพิ่ม เช่น ไข่ขาววันละฟอง

นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำให้ลดแป้งและน้ำตาล งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่

35:58 กรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ สามารถฝากไข่ได้หรือไม่?

ปกติการทำอัลตราซาวด์ จะทำผ่านทางช่องคลอด เพราะจะสามารถเห็นรายละเอียดของมดลูกและรังไข่ ได้ชัดเจนกว่าอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง แต่ในกรณีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ สามารถทำอัลตราซาวด์ผ่านทางก้นแทน ซึ่งจะไม่เจ็บเท่ากับอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดสำหรับคนไข้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

36:58 จำเป็นต้องทำอัลตราซาวด์ในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือนเท่านั้นหรือไม่?

สำหรับการเตรียมตัวก่อนเริ่มกระตุ้นไข่ สามารถทำอัลตราซาวด์วันไหนของรอบเดือนก็ได้ จะพอบอกจำนวนไข่คร่าวๆ ได้ และสามารถดูมดลูกว่ามีความผิดปกติ เช่น เนื้องงอกมดลูกได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงกระตุ้นไข่ จะต้องอัลตราซาวด์ครั้งแรกตอนประมาณวันที่ 2-3 ของรอบเดือน เพื่อวัดจำนวนไข่เริ่มต้น

37:55 หากปวดท้องประจำเดือน จะสามารถฝากไข่ได้หรือไหม?

สามารถทำได้ การปวดท้องประจำเดือนเกิดจากมดลูกบีบตัว ซึ่งไม่ได้มีผลต่อกับการเก็บไข่ แต่ก็ต้องมาดูว่าอาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากซีสต์ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ หรือเนื้องอกมดลูกหรือไม่ ซึ่งบางครั้งการมีช็อกโกแลตซีสต์อาจจะขัดขวางการเก็บไข่ หรือถ้าซีสต์ใหญ่มากอาจจะเก็บไข่ไม่ได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาซีสต์ออกก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงเก็บไข่แล้วเข็มเก็บไข่ไปจิ้มโดนซีสต์แตก และเกิดอาการปวดท้องมากได้

38:54 จำนวนไข่มากน้อยของแต่ละคนขึ้นอยู่กับอะไร และมีวิธีที่ทำให้ไข่เยอะขึ้นได้หรือไม่?

จำนวนไข่เยอะหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าพันธุกรรมคุณแม่ให้มามากน้อยแค่ไหน หากเป็นคนที่มีไข่เยอะ จำนวนไข่ในแต่ละรอบก็จะเยอะ แม้จะอายุมากชึ้น เช่น เกิน 40 ปี ก็ยังมีไข่เยอะอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออัตราการสลายตัวของไข่ เช่น เคยได้รับยาบางชนิด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด ที่มีผลทำให้จำนวนไข่ในรังไข่ลดลงเร็วมาก อาจจะทำให้จำนวนไข่หายไปมากกว่าคนทั่วไปได้ที่อายุพอๆ กันได้

ส่วนวิธีที่ทำให้ไข่เพิ่มขึ้น คุณหมอตอบว่าไม่มีวิธี เพราะผู้หญิงจะมีจำนวนไข่ตั้งต้นจำกัด และจะทยอยสลายตัวลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนผู้ชาย ที่มีการสร้างอสุจิใหม่ได้เรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการแช่แข็งไข่ เพื่อลดปัญหามีบุตรยาก เมื่ออายุมากขึ้น

40:22 ควรฝากไข่ไว้จำนวนเท่าไหร่ ถึงจะพอสำหรับการนำไปใช้ในอนาคต?

หากเป็นตัวเลขเฉลี่ยของจำนวนไข่ในทุกช่วงอายุ อยู่ที่ประมาณ 15 ใบ แต่ถ้าได้มากกว่านี้ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น เพราะหลังจากที่ละลายไข่และผสมกับอสุจิ แล้วเลี้ยงเป็นตัวอ่อนแล้ว โอกาสที่จะได้ตัวอ่อนที่ปกติอย่างน้อยประมาณ 2-3 ตัว (จากไข่เริ่มต้นประมาณ 15 ใบ) และเปอร์เซ็นต์ท้องในแต่ละครั้งที่ย้ายตัวอ่อนที่คุณภาพดี กลับเข้าสู่มดลูก จะอยู่ที่ประมาณ 70-80%  

อย่างไรก็ตาม จำนวนไข่ 15 ฟองอาจจะมีอัตราความสำเร็จไม่เท่ากันในแต่ละช่วงอายุ เช่น ไข่ 15 ฟองของผู้หญิงอายุ 28 ปี อาจจะได้ตัวอ่อนเยอะมาก และตัวอ่อนที่ตรวจโครโมโซมผลมีผลปกติเยอะมาก ในทางกลับกัน ไข่ 15 ฟองของผู้หญิงอายุ 43 ปี อาจมีโอกาสที่จะไม่สามารถผสมเป็นตัวอ่อนได้สำเร็จเลยก็เป็นได้ เรียกได้ว่า เมื่ออายุเยอะอาจจะต้องเก็บไข่มากขึ้น เพราะเปอร์เซ็นต์ของไข่ที่ปกติจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าหากเราเก็บไข่ตอนอายุยังไม่เยอะมาก เปอร์เซ็นต์ที่จะได้ไข่คุณภาพดีจะมีมากกว่า

42:17 การฉีดกระตุ้นไข่ จะต้องฉีดเวลาเดิมทุกวัน หากวันไหนลืมและเลยเวลาฉีดมาแล้วต้องทำอย่างไร?

ต้องรีบฉีดทันทีที่นึกได้ และรีบแจ้งคุณหมอว่ามีการฉีดยาผิดเวลา

42:36 ช่วงการฉีดกระตุ้นไข่ มีผลข้างเคียงหรือไม่ สามารถใช้ชีวิตปกติและออกกำลังกายได้ไหม?

ระหว่างที่ฉีดกระตุ้นไข่ คุณเอ๋มีผลข้างเคียง คืออารมณ์เหวี่ยง แต่ก็ดีขึ้นและกลับมาปกติใน 1-2 วัน จะรู้สึกว่าหิวและกินอาหารอร่อยขึ้น ผิวพรรณดีขึ้น มีน้ำมีนวล เปล่งปลั่ง ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เว้นการออกกำลังกายหนัก

ซึ่งคุณหมอแชร์ว่าปกติทั่วไปก็จะมีอาการคล้ายๆ กับคุณเอ๋ แต่บางคนอาจจะคัดตึงเต้านมบ้าง หรือบางคนอาจจะนอนไม่หลับ ท้องอืด ส่วนใครที่อยากออกกำลังกาย ก็สามารถเดินเบาๆ ได้

43:59 อาการอะไรบ้าง ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังเก็บไข่?

สำหรับคุณเอ๋รู้สึกว่าท้องอืดมาก เมื่อกระตุ้นไข่แล้วตอบสนองกับยาได้ดี ไข่จึงเยอะมาก

คุณหมอนิเล่าว่าอาการท้องอืด ปวดหน่วงๆ เป็นเรื่องปกติ ยิ่งใครที่ไข่เยอะมาก เมื่อขยับตัวก็จะรู้สึกตึง ส่วนเรื่องน้ำหนักอาจจะขึ้นสักช่วงหนึ่ง พอประจำเดือนมาก็จะดีขึ้น รวมถึงอาจมีเลือดออกติดกางเกงในประมาณ 1-2 วัน

44:59 กรณีที่มีโรคประจำตัว ต้องกินยาเป็นประจำ สามารถฝากไข่ได้หรือไม่?

ต้องดูก่อนว่าเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร จำเป็นต้องหยุดยาก่อนที่จะเก็บไข่หรือไม่ ยานั้นมีผลทำให้เลือดออกเยอะมากไหม ซึ่งต้องดูเป็นรายบุคคลไป แนะนำให้เข้ามาปรึกษาคุณหมอก่อน

45:23 มีเชื้อ HPV สามารถฝากไข่ได้ไหม และยากระตุ้นไข่มีผลกระทบหรือไม่?

ฝากได้ เพราะ HPV คือการติดเชื้อที่ปากมดลูก เวลาที่เก็บไข่จะใช้เข็มเจาะเข้าไป ไม่ได้ผ่านในส่วนของปากมดลูกอยู่แล้ว ส่วนยากระตุ้นไข่ ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรเช่นกัน

45:59 หากเพิ่งฉีดวัคซีนมาสามารถเข้ากระบวนการฝากไข่ได้หรือไม่?

ปกติแล้ว คุณหมอไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในระหว่างที่กระตุ้นไข่ แนะนำให้ฉีดให้เรียบร้อยก่อน 1 เดือน หรือ 2 สัปดาห์ เพราะส่วนใหญ่วัคซีนจะเริ่มกระตุ้นภูมิที่ 2 สัปดาห์ คุณหมอจึงไม่อยากให้มีอะไรมารบกวนในช่วงนี้

46:29 ระหว่างกระตุ้นไข่สามารถฉีดโบทอกซ์ ฉีดสิว ฉีดฟิลเลอร์ ฉีดสลายไขมัน รวมถึงทำเล็บได้หรือไม่?

ทำได้ แต่คุณหมอแนะนำว่าอย่าเพิ่งทำ เพราะบางคนอาจจะมีสิวขึ้นเมื่อฉีดยากระตุ้น ให้รอจนกระตุ้นไข่เสร็จแล้วประจำเดือนมา ฮอร์โมนก็จะกลับมาปกติ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

ส่วนการทำเล็บ ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อเข้าห้องเก็บไข่คุณหมอจะขอเว้นไว้ 1 เล็บ สำหรับวัดค่าออกซิเจน แสงจะต้องผ่านเล็บ หากต่อเล็บหรือทาเล็บเจลจนเล็บหนาอาจจะวัดออกซิเจนไม่ได้ แต่หากแค่ทาสีเล็บไม่จำเป็นต้องล้างออก เพราะแสงสามารถผ่านได้

48:20 จากสถิติไข่ที่ถูกแช่แข็งสูงสุดนานกี่ปี ที่ละลายแลนำมาใช้จริงแล้วตั้งครรภ์?

สำหรับที่ Superior A.R.T. เคยมีเคสสูงสุดนาน 6-7 ปี

49:02 จริงหรือไม่ เด็กที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วจะไม่แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไป?

จากข้อมูลที่รวบรวมเด็กที่เกิดด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วทั่วโลก พบว่า เด็กที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้ว เจอความผิดปกติมากกว่าเด็กที่เกิดตามธรรมชาติเล็กน้อย อาจจะเกิดจากภาวะมีบุตรยากที่ทำให้ไม่สามารถมีลูกเองตามธรรมชาติได้ และเทคโนโลยีที่พยายามเอาชนะธรรมชาติ เช่น ในฝ่ายชายที่ไม่มีอสุจิเลย ก็จะไม่สามารถมีลูกเองตามธรรมชาติได้ แต่การทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการดึงสเปิร์มมาจากลูกอัณฑะโดยตรง ก็สามารถทำให้มีลูกได้ แต่ก็เพิ่มโอกาสที่จะพบยีนผิดปกติในเด็กได้

แต่ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีในการตรวจหลายอย่าง เช่น การตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนจะใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นการคัดกรองตัวอ่อนที่ดีได้ ในระดับหนึ่ง เช่น ในคุณแม่ที่อายุมากกว่า 40 ปี การตั้งท้องธรรมชาติอาจจะมีโอกาสเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม แต่การทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อน ก็จะช่วยป้องกันปัญหาเรื่องนี้ได้ เรียกได้ว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยสรุปก็คือในเคสคนไข้ปกติไม่ได้มีโอกาสที่จะเกิดเด็กที่ผิดปกติจากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วแต่อย่างใด รวมถึงหากในครอบครัวมีประวัติโรคพันธุกรรมที่ส่งทอดกันมา เราสามารถตรวจได้ทั้งจำนวนโครโมโซมและโรคพันธุกรรมนั้นๆ ไปพร้อมกันได้

51:15 กรณีตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติตอนอายุเยอะ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

มีความเสี่ยง 2 กรณี  คือ

– เสี่ยงลูก หากคุณแม่อายุเยอะมีโอกาสที่เด็กจะผิดปกติ เช่น เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมมากขึ้น ซึ่งถ้าอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะได้ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม 1:350 คือคนท้องอายุ 35 ปี จำนวน 350 คน เจอว่าคลอดลูกออกมาเป็นดาวน์ซินโดรม 1 คน และความเสี่ยงนี้จะสูงขึ้นตามอายุแม่ที่มากขึ้น

– เสี่ยงแม่ หากคุณแม่ท้องตอนที่อายุเยอะจะมีโอกาสเป็นความดันสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากขึ้น ถ้าอายุค่อนข้างเยอะ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาก่อน เพื่อจะได้วางแผนว่าจะต้องไปตรวจอะไรก่อนหรือไม่ เตรียมตัวเตรียมร่างกายอะไรก่อนหรือไม่

52:12 กรณีเป็นโรคมะเร็งแล้วรักษาอยู่ สามารถฝากไข่ได้หรือไม่?

การแช่แข็งไข่ จริงๆแล้วถูกออกแบบมาเพื่อคนไข้ที่เป็นมะเร็ง เพราะจะต้องไปรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง ซึ่งจะมีผลทำให้จำนวนไข่ในรังไข่ลดลง หรือรังไข่หยุดทำงาน ทำให้มีบุตรยากในอนาคต จึงมีการกระตุ้นและนำไข่มาแช่แข็งเก็บไว้ก่อน เมื่อหายจากโรค และพร้อมมีลูกจะได้ลดปัญหามีบุตรยาก

อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูก่อนว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน หากเป็นมะเร็งระยะลุกลามก็จะยังไม่สามารถทำได้

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลดีๆ จาก Superior A.R.T. ที่นำมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ สำหรับใครที่สนใจอยากจะฝากไข่ หรืออยากจะมีลูกแต่ยังไม่พร้อมในตอนนี้ ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับคุณหมอที่คลินิก Superior A.R.T. ได้ทุกวันเลยนะคะ

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

อาหารบำรุงคุณภาพไข่ ช่วยชะลอการลดของ AMH เพื่อการตั้งครรภ์ ที่คุณต้องรู้!

การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยกระตุ้นการทำงานของรังไข่ เพิ่มคุณภาพไข่ และชะลอการลดลงของ AMH ได้ จะมีอาหารอะไรบ้างไปอ่านกัน

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.54 ❝ รังไข่เสื่อม มีลูกได้ไหม ❞

ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary ovarian insufficiency) คืออะไร จะมีลักษณะอาการอะไรบ่งบอก แล้วส่งผลกระทบอะไรบ้าง รังไข่เสื่อม มีลูกได้ไหม

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐀.𝐑.𝐓. 𝐋𝐈𝐕𝐄 : 🅔🅟.30 ❝ IUI ก็ท้องได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ❞

IUI ก็ท้องได้ ไม่ใช่เรื่องยาก IUI เหมาะกับใคร มีวิธีการและเปอร์เซ็นความสำเร็จเป็นอย่างไร คุณหมอนิจะมาตอบข้อสงสัยให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ