IVF หรือที่หลายคนเรียกว่า การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพสูง และมีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำ IVF สำเร็จสูง การทำ IVF จึงกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับคู่สมรสที่อยากเป็นว่าที่คุณพ่อคุณแม่ แต่กำลังเผชิญปัญหาภาวะมีบุตรยาก มาทำความเข้าใจขั้นตอนการทำ IVF ว่ามีรายละเอียดสำคัญใดบ้างที่ควรรู้? วันนี้ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. มีคำตอบ

การทำ IVF คืออะไร?
IVF ย่อมาจาก In Vitro Fertilization หรือที่เรียกกันว่า “การปฏิสนธินอกร่างกาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมาก ช่วยให้คู่ประสบปัญหาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติสามารถมีบุตรได้
IVF คือ วิธีการที่แพทย์จะทำการเก็บไข่ของฝ่ายหญิง และนำน้ำอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกันในห้องปฏิบัติการภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ เมื่อไข่และอสุจิผสมกันจนกลายเป็น “ตัวอ่อน” นักวิทยาศาสตร์จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนให้เจริญเติบโตถึงระยะที่เหมาะสม ก่อนจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ต่อไป
ขั้นตอนการทำ IVF ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนการทำ IVF เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยให้คู่รักที่มีภาวะมีบุตรยากสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ
โดยทั่วไป คลินิกหรือโรงพยาบาลจะจัดเตรียม ตารางการทำ IVF ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนชีวิตและเตรียมตัวล่วงหน้าได้ ซึ่งตารางเหล่านี้จะถูกปรับให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน ซึ่งขั้นตอนหลักในการทำ IVF ประกอบด้วย:
1. ปรึกษาแพทย์
เมื่อไหร่: สามารถปรึกษาได้ในทุกช่วงของประจำเดือน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 45 – 60 นาที
เริ่มต้นด้วยการนัดพบแพทย์ เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด การตรวจอัลตราซาวน์มดลูกและรังไข่ ตรวจการทำงานของฮอร์โมน และการตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เข้าใจสภาพร่างกายโดยรวม และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด
2. การกระตุ้นไข่
เมื่อไหร่: วันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 10 – 12 วัน
เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำ IVF ขั้นตอนแรกคือการกระตุ้นไข่ในรังไข่ แพทย์จะเริ่มให้ยาฮอร์โมน ในช่วงวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน จนฟองไข่โตได้ขนาด ในรังไข่จะมีฟองไข่อยู่มากมาย ในฟองไข่จะประกอบด้วยเซลล์ไข่ หรือ oocyte ซึ่งในแต่ละรอบเดือน ฟองไข่และเซลล์ไข่จำนวนหนึ่งจะเติบโตกลายเป็นไข่ที่โตเต็มวัย ดังนั้นเป้าหมายของการกระตุ้นไข่ คือการกระตุ้นให้ไข่ที่เตรียมโตในรอบเดือนนั้นๆ โตขึ้นให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มีในแต่ละรอบด้วยยา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้ไข่โตเต็มวัยที่มีคุณภาพสูง
ระหว่างนี้ ต้องมาพบแพทย์ที่คลินิกทุกๆ 3-4 วัน ในช่วงเวลา 9-12 วัน เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ ดูว่ารังไข่ตอบสนองต่อยากระตุ้นไข่อย่างไร เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นการตกไข่ (trigger shot) ที่เป็นฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) หรือ Triptorelin ซึ่งเป็น GnRH agonist เพื่อช่วยให้ไข่สุกและหลุดออกจากผนังของฟองไข่ พร้อมสำหรับการเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป
3. การเก็บไข่และการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ
เมื่อไหร่: 34-36 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก
ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง
หลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะเริ่มกระบวนการเก็บไข่สำหรับทำ IVF โดยใช้อัลตราซาวด์นำเพื่อให้เห็นฟองไข่ชัดเจน และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอด เข้าไปในฟองไข่และดูดเก็บไข่ออกมา ตลอดกระบวนการแพทย์จะให้ยาสลบ จึงแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 15-20 นาที และพักในห้องพักฟื้นหลังเก็บไข่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
ในวันเดียวกับวันเก็บไข่ ฝ่ายชายก็มาเก็บน้ำเชื้อ โดยปกติแล้วแนะนำให้เก็บอสุจิในวันเดียวกับวันเก็บไข่ที่คลินิก แต่ถ้าหากไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถเข้ามาเก็บอสุจิก่อน แล้วแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ล่วงหน้า และนำมาละลายใช้ในวันเก็บไข่
วิธีการเก็บน้ำเชื้ออสุจิสำหรับทำ IVF
วิธีการเก็บน้ำเชื้ออสุจิที่ดีที่สุดคือการช่วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้น้ำเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวอื่นๆ ของฝ่ายหญิง (เช่น น้ำลาย น้ำหล่อลื่นช่องคลอด) ที่อาจมีแบคทีเรียปะปนอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิสนธิ (fertilization) หรือการเพาะเลี้ยงได้ และหลังจากที่ฝ่ายชายเก็บน้ำอสุจิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งน้ำเชื้อให้นักวิทยาศาสตร์ที่รออยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมน้ำอสุจิต่อไป
นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจิ มาพักไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้น้ำอสุจิละลายตัวให้เหลวก่อน จากนั้นจะทำการปั่นล้างเพื่อเอาอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหวและเศษเซลล์ต่างในน้ำอสุจิออก และทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าจะทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หรือ ICSI
โดยแพทย์จะเลือกการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หากผลน้ำอสุจิเป็นปกติ แต่หากผลอสุจิมีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิได้มากขึ้น
สำหรับการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF อสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง ส่วนวิธี ICSI นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่ที่โตเต็มวัยโดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ วิธี ICSI มีขั้นตอนและวิธีการที่ซับซ้อนกว่าวิธี IVF และต้องทำโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ
ไข่ที่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้วจะถูกเรียกว่า ‘ตัวอ่อน’
4. การเลี้ยงตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังจากปฏิสนธิด้วยวิธี IVF หรือ ICSI
ใช้เวลานานแค่ไหน: 5-6 วัน
หลังจากที่ไข่และอสุจิปฏิสนธิจนกลายเป็น ‘ตัวอ่อน’ แล้ว ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 5-6 วัน จนพัฒนาและเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ พร้อมที่จะย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก สำหรับตัวอ่อนที่ไม่สามารถเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์นั้นโดยทั่วไปถือว่าเป็นตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรง โอกาสฝังตัวในมดลูกน้อย จึงไม่ควรนำมาย้ายกลับไปสู่โพรงมดลูก กระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนมาก ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่ชำนาญการใช้งานอุปกรณ์เทคนิคขั้นสูงและวิธีการจัดการสภาพแวดล้อมภายในห้องปฏิบัติการให้เหมาะแก่การเติบโตของตัวอ่อน
การเลี้ยงตัวอ่อนที่ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.
ที่คลินิก IVF ของเรา ใช้ตู้ GERI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการเลี้ยงตัวอ่อน (Blastocyst Culture) ภายในเครื่องติดตั้งระบบกล้องถ่ายภาพจุลทรรศน์คุณภาพสูง หนึ่งตัวต่อหนึ่งจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ช่วยให้สามารถติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนได้โดยละเอียด โดยไม่ต้องขยับจานเพาะเลี้ยงหรือตัวอ่อนเลย แต่ละจานเพาะเลี้ยงเป็นอิสระแยกขาดจากกัน ทำให้สามารถควบคุมและปรับสภาวะแวดล้อมของการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมกับตัวอ่อนแต่ละตัว การใช้ตู้เลี้ยงระบบแยกเลี้ยงนี้ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์เนื่องจากตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่คงที่ไม่ถูกรบกวน
5. การย้ายตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังกระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 2 ชั่วโมง
ในขั้นตอนสุดท้าย แพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่คุณภาพดีในระยะบลาสโตซิสต์ ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ผ่านกระบวนการที่ง่ายและไม่เจ็บปวด โดยตัวอ่อนถูกดูดไว้ในสายย้ายตัวอ่อน และใช้อัลตราซาวด์ช่วยนำทางให้เห็นปลายสาย ที่สอดผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก หลังจากนั้นจะฉีดตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูกให้เริ่มเจริญเติบโต
ประมาณ 7-10 วันหลังจากการย้ายตัวอ่อน จะทดสอบการตั้งครรภ์ และประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็สามารถมาตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูถุงการตั้งครรภ์ ยืนยันการตั้งครรภ์
6. การแช่แข็งตัวอ่อน
เมื่อไหร่: หลังจากกระบวนการย้ายตัวอ่อน
ใช้เวลานานแค่ไหน: 1-2 ชั่วโมง
สำหรับตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ทำการย้ายตัวอ่อน สามารถแช่แข็ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ด้วยวิธีการแช่แข็งตัวอ่อนแบบผลึกแก้ว (Vitrification) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลดอุณหภูมิขณะแช่แข็งตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งในเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายของตัวอ่อน วิธีการนี้ช่วยให้ตัวอ่อนถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง หากเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูง และควบคุมคุณภาพและติดตามปริมาณไนโตรเจนเหลว ตลอดจนตรวจเช็คความสมบูรณ์ของอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ หากต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็สามารถนำตัวอ่อนแช่แข็งเหล่านี้กลับมาใช้ได้
อัตราการทำ IVF สำเร็จอยู่ที่เท่าไหร่
อัตราการทำ IVF สำเร็จอยู่ที่ประมาณ 40-60% หากไม่ได้ทำการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (non-PGT) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ อายุ คุณภาพไข่และอสุจิ สาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก ตลอดจนลักษณะการดำเนินชีวิต ฝ่ายหญิงที่ยังอายุน้อยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ก็มีหลายเคสของผู้เข้ารับการรักษาที่มีอายุมากและประสบความสำเร็จเช่นกัน
นอกจากนี้ในรายที่ทำการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (PGT) สามารถช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จขึ้นไปได้สูงถึง 75-80% ต่อการย้ายตัวอ่อน 1 รอบ การปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้
IVF ราคา ประมาณเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการทำ IVF มีช่วงราคาที่ค่อนข้างกว้างมาก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสถานพยาบาล (รัฐบาลหรือเอกชน) เทคโนโลยีที่ใช้ และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่โดยสรุปแล้ว ราคาจะอยู่ในช่วงประมาณ 150,000 – 600,000 บาทต่อรอบการรักษา แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วง 300,000 – 500,000 บาท โดยสามารถแบ่งรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามปัจจัย
IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไร
IVF กับ ICSI เป็นสองเทคนิคหลักในการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการปฏิสนธิ ดังนี้
1. IVF (In Vitro Fertilization) หรือการปฏิสนธินอกร่างกายแบบดั้งเดิม
เป็นวิธีมาตรฐานในการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะนำไข่ที่ได้จากการกระตุ้นรังไข่ และอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว มาผสมกันในจานเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ แล้วปล่อยให้อสุจิว่ายไปปฏิสนธิกับไข่เองตามธรรมชาติ จึงเป็นการให้อสุจิหลายๆ ตัวจะเข้ามาแข่งขันกันเพื่อเจาะเข้าสู่ไข่
การทำ IVF เหมาะสำหรับ:
- ฝ่ายชายมีคุณภาพอสุจิ (ปริมาณ ความเข้มข้น การเคลื่อนไหว และรูปร่างอสุจิ) อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย โดยยังมีความสามารถในการเคลื่อนที่และการเจาะไข่ได้ดี
- ฝ่ายหญิงมีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ เนื่องจากภาวะหรือโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติ
- ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย
- ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ chocolate cyst
- ฝ่ายหญิงอายุไม่มาก (อายุน้อยกว่า 35 ปี)
- ผู้ที่เคยทำหมันแล้วต้องการมีบุตรอีก
- คู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการรักษาด้วยวิธี IUI
- มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained Infertility)
- คู่สมรสที่มีความเสี่ยงจะมีบุตรที่เป็นโรคพันธุกรรมหรือโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (PGT)
2. ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ การฉีดเชื้อเข้าเซลล์ไข่โดยตรง
เป็นเทคนิคที่พัฒนาต่อยอดมาจาก IVF โดยการเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัว ใส่เข้าไปในเข็มที่เล็กมากๆ และฉีดเข้าไปในไซโตพลาสซึม (ส่วนของเหลวภายใน) ของเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ จึงเป็นการช่วยเหลือโดยตรงและเพิ่มอัตราความสำเร็จให้มากขึ้น
การทำ ICSI เหมาะสำหรับ:
- ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิอย่างมาก ได้แก่ จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี
- ฝ่ายชายเคยผ่าตัด หรือมีประวัติเป็นหมัน หรือมีภาวะ “ไม่มีอสุจิในน้ำเชื้อ”ต้องเก็บอสุจิโดยการเจาะจากอัณฑะ
- ฝ่ายชายมีภาวะภูมิคุ้มกันต่อตัวอสุจิเอง
- คู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการรักษาด้วยวิธี IVF
- ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี มีจำนวนไข่ที่เก็บได้น้อย ต้องการเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ
เปรียบเทียบ IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไร
เทคนิค | IVF | ICSI |
ขั้นตอนปฏิสนธิ | อสุจิหลายตัวถูกนำมาผสมกับไข่ ให้อสุจิว่ายไปเจาะไข่เอง | เลือกอสุจิที่ดีที่สุด 1 ตัว ฉีดเข้าสู่เซลล์ไข่โดยตรง |
ความซับซ้อน | น้อยกว่า | มากกว่า โดยต้องใช้เทคนิคและความชำนาญของนักวิทยาศาตร์ |
ค่าใช้จ่าย | ถูกกว่า | สูงกว่า เนื่องจากใช้เครื่องมือพิเศษและเทคนิคที่ซับซ้อนกว่า |
เหมาะสำหรับ | อสุจิปกติ, มีปัญหาท่อนำไข่, ปัญหาการตกไข่, หรือไม่ทราบสาเหตุ | ปัญหาอสุจิรุนแรง, อสุจิจากการผ่าตัด, เคยทำ IVF แล้วไม่สำเร็จ, เก็บไข่ได้น้อย |
อัตราการปฏิสนธิ | ขึ้นอยู่กับความสามารถของอสุจิในการเจาะไข่ | สูงกว่าในกรณีที่มีปัญหาอสุจิ เพราะเป็นการช่วยเหลือโดยตรง |
IVF กับ ICSI อันไหนดีกว่ากัน
ในการพิจารณาว่า IVF กับ ICSI อันไหนดีกว่ากัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องเป็นผู้ประเมินจากข้อมูลด้านสุขภาพของทั้งสองฝ่ายอย่างละเอียด เช่น ผลการตรวจร่างกาย ฮอร์โมน อัลตราซาวด์ ท่อนำไข่ รวมถึงคุณภาพของน้ำอสุจิ เพื่อแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด
- หาก ฝ่ายชายมีคุณภาพอสุจิปกติ มีจำนวนและการเคลื่อนไหวดี การทำ IVF ก็อาจเพียงพอและมีประสิทธิภาพสูง โดยอสุจิสามารถว่ายเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้เองในห้องแล็บ
- แต่ถ้า ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องอสุจิ เช่น มีจำนวนน้อย เคลื่อนไหวผิดปกติ รูปร่างผิดปกติสูง หรือเคยทำ IVF แล้วไม่ปฏิสนธิ มีจำนวนไข่ที่เก็บได้น้อย ต้องการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) ICSI จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า
IVF กับ IUI ต่างกันอย่างไร
IUI และ IVF เป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งในเรื่อง กระบวนการรักษา ความซับซ้อน ค่าใช้จ่าย และโอกาสสำเร็จ โดยสามารถสรุปข้อแตกต่างหลักๆ ได้ดังนี้
ตารางเปรียบเทียบ IUI vs IVF
หัวข้อเปรียบเทียบ | IUI (การฉีดเชื้อผสมเทียม) | IVF (การทำเด็กหลอดแก้ว) |
สถานที่ปฏิสนธิ | ภายในร่างกาย (ท่อนำไข่) | ภายนอกร่างกาย (ห้องปฏิบัติการ) |
กระบวนการ | ฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง | เก็บไข่ ผสมกับอสุจิ เลี้ยงตัวอ่อนในห้องแล็บ แล้วย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก |
ความซับซ้อน | ไม่ซับซ้อน ขั้นตอนใกล้เคียงธรรมชาติ | ซับซ้อน มีขั้นตอนมากกว่า |
ความเจ็บปวด | เจ็บน้อยมาก หรือไม่เจ็บเลย (คล้ายตรวจภายใน) | เจ็บจากการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน |
การใช้ยา | อาจใช้ยากระตุ้นไข่ปริมาณน้อย หรือไม่ใช้เลย | ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นไข่ในปริมาณสูง |
ค่าใช้จ่าย | ประมาณ 10,000-40,000 บาท / รอบ | ประมาณ 300,000-600,000 บาท / รอบ (ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล) |
อัตราความสำเร็จ | ประมาณ 10-20% ต่อรอบ | ประมาณ 40-60% ต่อรอบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ |
โดยทั่วไป แพทย์มักจะแนะนำให้เริ่มต้นการรักษาจากวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติและรบกวนร่างกายน้อยที่สุดก่อน นั่นคือ IUI หากลองทำ IUI ประมาณ 3-4 รอบแล้วยังไม่สำเร็จ หรือคู่สมรสมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า IUI ไม่น่าจะได้ผล (เช่น ท่อนำไข่อุดตัน) แพทย์จึงจะแนะนำให้ทำ IVF ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ก็มีค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนมากกว่า
IVF เลือกเพศได้ไหม
ในเชิงเทคนิค การทำ IVF หรือ ICSI สามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนล่วงหน้าได้ด้วย PGT-A (Preimplantation Genetic Testing for Aneuploidies) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก โดยจะเป็นการตรวจโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่เพื่อดูความผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม และในการตรวจนี้เองก็จะรวมการตรวจโครโมโซมเพศ ทำให้ทราบเพศของตัวอ่อนแต่ละตัวไปด้วย
ในประเทศไทยไม่อนุญาตให้เลือกเพศบุตรด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวที่ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมายและหลักจริยธรรม
ดังนั้น การตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวในกระบวนการ IVF สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนเท่านั้น หรือการเลือกตัวอ่อนที่เจาะจงเพศในบางกรณี เช่น เพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมที่เกีี่ยวข้องกับโครโมโซมเพศ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย โรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเชน หรือภาวะตาบอดสีบางชนิด เป็นต้น ดังนั้นหากครอบครัวมีประวัติเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม การเลือกเพศตัวอ่อนก่อนย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก ก็จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าลูกที่เกิดมาจะไม่เป็นโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ และสามารถดำเนินการได้ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายไทย
ย้ายตัวอ่อนกี่ตัวจึงเหมาะสม? การทำ IVF มีความเสี่ยงหรือไม่?
แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงและคุณภาพตัวอ่อน หากเป็นตัวอ่อนที่ได้รับการตรวจโครโมโซมและผลปกติ แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับทีละหนึ่งตัว เนื่องจากตัวอ่อนที่คุณภาพดี และมีโครโมโซมที่ปกติ มีโอกาสตั้งครรภ์สูงอยู่แล้ว
แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลและมีความปลอดภัยสูง แต่การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF ยังอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome OHSS) มีเลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่ ความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์แฝด เป็นต้น การเลือกคลินิก IVF ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย ตามจำนวนไข่ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด
อายุ 45 ทํา IVF ได้ไหม
อายุ 45 สามารถทำ IVF ได้ แต่โอกาสตั้งครรภ์ด้วยไข่ของตัวเองค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคุณภาพและจำนวนไข่ลดลงมากตามอายุ โอกาสที่จะได้ตัวอ่อนโครโมโซมปกติอาจจะน้อยกว่า 20% ทำให้อัตราการฝังตัวและโอกาสแท้งก็สูงขึ้น หากต้องการใช้ไข่ของตัวเอง แนะนำให้ทำ ICSI ร่วมกับการตรวจ PGT-A อย่างไรก็ตามในบางรายอาจจะเป็นต้องใช้ไข่บริจาคเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินโอกาสและทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
การเลือกว่าจะทำ IVF ที่ไหนดี เป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงคือ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการเฉพาะด้าน อัตราความสำเร็จของคลินิก คุณภาพของห้องปฏิบัติการ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับงบประมาณ หากคุณมีความกังวลใจ สามารถปรึกษาขอแนะนำเกี่ยวกับบริการทำเด็กหลอดแก้ว IVF-ICSI กับซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.ก่อนได้
บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับกับ เด็กหลอดแก้ว และ IVF
- การทำ ICSI (อิ๊กซี่) คืออะไร? แตกต่างอย่างไรกับ IVF?
- การทำเด็กหลอดแก้ว In Vitro Fertilization (IVF) และ Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI)
- การนำตัวอ่อนแช่แข็งฝังในโพรงมดลูก (Frozen Embryo Transfer: FET)
อ้างอิง:
ข่าวสารและบทความอื่นๆ

