ข่าวสารและบทความ

ตอบข้อสงสัยที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว

ปัจจุบันการทำเด็กหลอดแก้วเป็นทางเลือกที่มอบความหวังให้คู่สมรสที่กำลังเจอปัญหาภาวะมีบุตรยาก เด็กหลอดแก้ว คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นได้นอกร่างกาย ก่อนย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก หลายคนอาจสงสัยว่า การทำเด็กหลอดแก้ว ข้อดี ข้อเสียมีอะไรบ้าง? ซึ่งแน่นอนว่าข้อดีคือ  ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตร ขณะที่ข้อเสียอาจเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และผลข้างเคียงจากการกระตุ้นไข่ นอกจากนี้ยังอาจมีความเข้าใจหรือมีความเชื่อที่คลาดเคลื่อนไปในหลายๆ ด้าน บทความนี้ Superior A.R.T. จะมาตอบข้อสงสัยให้ค่ะ


ทำความเข้าใจเด็กหลอดแก้วคืออะไร นิยมทำด้วยวิธีใดบ้าง?

“เด็กหลอดแก้ว” คือศัพท์ที่ใช้เรียกเทคนิคการช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ช่วยให้คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น โดยเทคนิคนี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างเด็กในหลอดแก้วอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นกระบวนการที่นำไข่และอสุจิมาผสมกันภายนอกร่างกาย โดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ IVF และ ICSI

วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไร?

  • การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF แบบดั้งเดิม: เป็นการนำไข่มาวางในจานเพาะเลี้ยงพร้อมกับอสุจิจำนวนหนึ่ง แล้วปล่อยให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่เองตามธรรมชาติจนได้เป็นตัวอ่อนเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อ โดยกระบวนการนี้จะจำลองการปฏิสนธิตามธรรมชาติแต่จะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการ
  • การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI หรือ “อิ๊กซี่”: เป็นวิธีที่ก้าวหน้ากว่า โดยนักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกอสุจิคุณภาพดีเพียงตัวเดียว แล้วฉีดเข้าไปโดยตรงในไซโตพลาสซึมของไข่แต่ละใบ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาคุณภาพอสุจิไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน มีจำนวนอสุจิน้อย หรือมีอสุจิที่เคลื่อนไหวผิดปกติ

หลังจากการปฏิสนธิไม่ว่าจะด้วยวิธีใดข้างต้น ตัวอ่อนจะถูกเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดประมาณ 5-6 วัน จนกลายเป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst ก่อนที่จะคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของผู้หญิง หลังจากนั้นจะรอให้ตัวอ่อนฝังตัวตามธรรมชาติและพัฒนาต่อไปเป็นทารกในครรภ์


ความเชื่อทั่วไป VS ความจริงเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว

เด็กหลอดแก้ว

ความเชื่อทั่วไป: การทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI เป็นวิธีเดียวสำหรับผู้มีบุตรยากที่ต้องการตั้งครรภ์

ความจริง: การรักษาภาวะมีบุตรยาก สามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้ยาทานเพื่อกระตุ้นไข่ตก ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลายๆ คู่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ หรือใช้วิธี IUI ซึ่งเป็นการฉีดเชื้ออสุจิที่คัดกรองตัวที่แข็งแรงเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วงเวลาที่ไข่ตกหรือใกล้กับเวลาที่มีไข่ตก แต่หากทั้งสองวิธีที่กล่าวมายังไม่สำเร็จ การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF/ICSI ก็เป็นทางเลือกที่มีโอกาสสำเร็จมากกว่า

ความเชื่อทั่วไป: ทารกที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วจะไม่แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไป หรือ เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือความพิการ

ความจริง: สำหรับใครทำกังวลว่า เด็กหลอดแก้วแข็งแรงไหม? เด็กที่เกิดจากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว มีความแข็งแรงสมบูรณ์ไม่ต่างกับกับเด็กที่เกิดตามธรรมชาติ เพราะทั้งวิธี IVF และ ICSI จะเลือกไข่ที่แข็งแรงและอสุจิที่สมบูรณ์มาปฏิสนธิกัน และหากมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวควบคู่ไปด้วย จะช่วยเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงของทารกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรมได้มากกว่าวิธีตามธรรมชาติ และลดโอกาสแท้งได้

ความเชื่อทั่วไป: การทำเด็กหลอดแก้วมีโอกาสที่จะมีการตั้งครรภ์ลูกแฝดสูง

ความจริง: โอกาสการตั้งครรภ์ลูกแฝดจากการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนตัวอ่อนที่ย้าย, อายุฝ่ายหญิง, สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ยิ่งมีการย้ายตัวอ่อนจำนวนมากเท่าใด และฝ่ายหญิงมีอายุน้อยมากเท่าใด โอกาสในการตั้งครรภ์แฝดก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการการันตีว่าการตั้งครรภ์เด็กแฝดจะสำเร็จในทุกครั้ง

ความเชื่อทั่วไป: การทำเด็กหลอดแก้ว เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากที่ต้องการมีบุตร และมีอัตราความสำเร็จ 100%

ความจริง: เมื่อคุณอายุมากขึ้น อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะถดถอย สำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ก็จะลดลง เพราะมีผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น จำนวนไข่, คุณภาพของไข่, ความผิดปกติทางร่างกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน อัตราความสำเร็จจากการย้ายตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติสูงถึง 75-80% ต่อรอบการย้ายตัวอ่อน


FAQs. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว

1. เด็กหลอดแก้วเลือกเพศได้ไหม?

ตามกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่อนุญาตให้ทำการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวเพื่อจุดประสงค์ในการเลือกเพศ อย่างไรก็ตามสามารถทำการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น

  • ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อนเพิ่มขึ้น
  • เคยแท้งบุตรติดต่อกัน 2 ครั้งขึ้นไป
  • เคยย้ายตัวอ่อนมาแล้ว 2 รอบแต่ไม่ตั้งครรภ์
  • เคยมีบุตรที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมหรือโครโมโซมมาก่อน

ซึ่งการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Testing หรือ PGT) เป็นการตรวจความผิดปกติของทั้ง 23 คู่โครโมโซม ซึ่งทำให้ทราบเพศของตัวอ่อนด้วย

2. ผลกระทบของการทำเด็กหลอดแก้วที่อาจเกิดขึ้น

โดยทั่วไป การทำเด็กหลอดแก้วเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย แต่ก็มีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น

  • ผลข้างเคียงจากยากระตุ้นไข่ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง คัดตึงเต้านม อารมณ์แปรปรวน
  • Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) ภาวะที่รังไข่ตอบสนองต่อยามากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืด คลื่นไส้ หรือในกรณีรุนแรงอาจมีน้ำในช่องท้อง
  • โอกาสตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะหากฝังตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  • ความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ คู่สมรสบางคู่อาจมีความเครียดจากกระบวนการรักษาและความคาดหวังเกี่ยวกับผลลัพธ์

3. ค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้ว?

ค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • ค่ายากระตุ้นไข่และค่าเวชภัณฑ์
  • ค่าเก็บไข่และปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ
  • ค่าแช่แข็ง เก็บรักษา และละลายตัวอ่อน
  • ค่าตรวจคัดกรองตัวอ่อน (เช่น PGT-A)
  • ค่าเตรียมผนังมดลูก
  • ค่าฝังตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

โดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายในประเทศไทยอาจอยู่ที่ 200,000 – 500,000 บาทต่อรอบ ขึ้นอยู่แผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคู่สมรส

ข่าวสารและบทความอื่นๆ

Lab และ Technology ปัจจัยสำคัญที่ห้ามมองข้ามในการเลือกทำ ICSI

เนื่องจากการทำ ICSI เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ห้องปฏิบัติการ (Lab) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

21 มี.ค. วันดาวน์ซินโดรมโลก

21 มี.ค. ของทุกปี เป็น “วันดาวน์ซินโดรมโลก” (World Down Syndrome Day) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มอาการดาวน์

🔬นักวิทย์ 💬 อยากเล่า : Geri® Time Lapse Incubator พี่เลี้ยงตัวตึงของน้องๆ ตัวอ่อน

นักวิทย์ อยากเล่า : Geri® Time Lapse Incubator พี่เลี้ยงคนสำคัญของน้องๆ ตัวอ่อนเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ติดตามพัฒนาการตัวอ่อนได้แบบเรียลไทม์